xs
xsm
sm
md
lg

ITDเปิดหลักสูตรผู้นำยุทธศาสตร์ รุ่น 1 81 บิ๊ก“ข้าราชการ-ธุรกิจ”ผนึกกำลัง ทำแผนอนาคตขับเคลื่อน 4 อุตสาหกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบันกฎ กติกา การค้าโลก มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความเข้มงวดขึ้น ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน รวมไปถึงการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และยังมีปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ส่งผลกระทบต่อการค้า การผลิต และการส่งออก ขณะที่ในประเทศ ก็มีความท้าทายจากปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้ประเทศไทยต้องมีผู้นำยุคใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจเชิงลึกในการวิเคราะห์แนวโน้มด้านการค้าและการพัฒนา เพื่อนำไปสู่การวางยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนาที่เหมาะสมในการรับมือและตอบสนองต่อความท้าทาย และนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากปัญหาข้างต้น สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ได้ดำเนินการตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จัดทำหลักสูตร “ผู้นำยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนา (Leadership Program on Trade and Development Strategy)” รุ่นที่ 1 เพื่อสร้างผู้นำยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนายุคใหม่ ที่ทันเกม ทันเหตุการณ์ และมีส่วนสำคัญในการวางยุทธศาสตร์เชิงนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าและการพัฒนาของประเทศ

ที่มาของการจัดทำโครงการ

นายสุภกิจ เจริญกุล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD เล่าถึงที่มาที่ไปของการจัดทำโครงการ ว่า ด้วยความที่ ITD เป็นองค์กรที่มุ่งขับเคลื่อนการค้าและการพัฒนา มีพันธกิจในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับข้าราชการภาครัฐ และผู้ประกอบการ และอีกขาหนึ่ง ในแต่ละปี จะมีการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในประเด็นต่าง ๆ ให้กับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำไปใช้งานต่อ เราจึงมองว่า น่าจะเอาพันธกิจทั้ง 2 เรื่องมารวมกัน เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนขนาดใหญ่ จึงเป็นที่มาของการจัดทำหลักสูตรผู้นำยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนา ซึ่งปีนี้ จัดเป็นครั้งแรก เป็นปีแรก

เมื่อได้แนวคิดแล้ว ก็เริ่มเปิดรับสมัครข้าราชการภาครัฐ และผู้ประกอบการภาคเอกชน ให้มาเข้าร่วมโครงการ ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม และยังได้กำหนดอุตสาหกรรมที่จะทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน ซึ่งตอนแรก ITD มีอุตสาหกรรมในเป้าหมายประมาณ 8 อุตสาหกรรม แต่เคาะเหลือเพียง 4 อุตสาหกรรม คือ ท่องเที่ยว เกษตรและอาหาร ยานยนต์ โลจิสติกส์และพลังงาน โดยมองว่าเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้


เหตุผลที่เลือก 4 อุตสาหกรรม

สำหรับเหตุผลที่คัดเลือก 4 อุตสาหกรรมข้างต้น นายสุภกิจบอกว่าใช้เวลานานมาก และจะเลือกอุตสาหกรรมอะไรดี เพราะประเทศไทยมีอุตสาหกรรมเด่น ๆ มากมาย แต่ที่เลือกการท่องเที่ยว เพราะปัจจุบันเป็นรายได้หลักในการขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศ และมีโอกาสขยายตัวได้อีก เกษตรและอาหาร เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่กับไทยมานาน และยังมีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะอาหารแห่งอนาคต ที่ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน ยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์อีวี ที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลก และโลจิสติกส์และพลังงาน ที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต หากบริหารจัดการได้ดี ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคนี้ได้

ขั้นตอนการคัดเลือกสุดเข้ม

สำหรับคนที่เข้ามาอบรมในครั้งนี้ ITD ส่วนใหญ่เป็นเบอร์ 1 2 และ 3 ของหน่วยงาน เป็นภาครัฐประมาณ 40% ที่ให้ความสำคัญมาก ต้องมีกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการต่างประเทศ ที่เหลือก็คละกันไปจากหลาย ๆ กระทรวง และหลายหน่วยงาน ส่วนภาคเอกชน คละกันไปทั้งรายใหญ่ ที่เป็นบริษัทมหาชน รายเล็ก นักธุรกิจรุ่นใหม่ ผู้ที่อยู่ในวงการเทคโนโลยี และ AI สถาบันการเงินก็มี ไฟแนนซ์ก็มี

“ขั้นตอนการคัดเลือก ใช้เวลานานมาก เพราะมีคนสนใจเกินไปจากเป้าหมาย ซึ่งเดิมทีอยากได้ประมาณ 64 คน แต่สมัครมากว่า 200 คน ต้องดูคุณสมบัติ ต้องดูประสบการณ์ ดูโปรไฟล์แต่ละคนดีมาก ต้องโทรหาคนละ 4 รอบ ถามว่าสนใจเรียนจริง ๆ หรือไม่ เรียนได้เต็มเวลาหรือไม่ เพราะการจะจบหลักสูตร ต้องมีเวลาเรียน 80% ขึ้นไป สุดท้ายก็ต้องยอมให้มีคนเรียนเกินไปจากเป้า ได้มาที่ 81 คน เพราะเสียดาย ไม่อยากให้คนเก่ง ๆ หลุดไป”


วัตถุประสงค์-ประโยชน์ที่จะได้รับ

หากถามถึงวัตถุประสงค์ของการจัดทำหลักสูตรนี้ นายสุภกิจ บอกว่า มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเชิงลึกด้านการวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมสำคัญของไทย ซึ่งเชื่อมโยงกับการค้าและการพัฒนาของไทยอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านการฟังการบรรยาย การแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์จริงจากทั้งผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้เข้ารับการอบรมด้วยกันเอง โดยใช้เครื่องมือการคาดการณ์อนาคต (Foresight) ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนและก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

พร้อมกันนี้ ผู้เข้ารับการอบรมได้พัฒนาองค์ความรู้และทักษะด้านภาวะผู้นำและการบริหารเชิงกลยุทธ์ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้สามารถรับมือกับบริบทโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยาก และช่วยสร้างเสริมเครือข่ายผู้นำยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนาให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด องค์ความรู้ และประสบการณ์จากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนาของประเทศที่สอดประสานกันอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น จะช่วยสร้างผู้นำยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนาที่มีความรู้ความสามารถ และมีวิสัยทัศน์ในการออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายในการส่งเสริมขีดความสามารถด้านการค้าและการพัฒนาของประเทศ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองโลกที่ซับซ้อนและคาดการณ์ได้ยาก

ขณะเดียวกัน จะมีการนำเสนอ 4 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับการค้าและการพัฒนาของไทย รวมถึงยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศและยกระดับให้ไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และยังจะช่วยพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายทางนโยบาย (Policy Network) ระหว่างผู้นำยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนาจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้อย่างเข้มแข็ง


“กิตติรัตน์”ร่วมเปิดตัวโครงการ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ได้เปิดตัวไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา โดยมี ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ITD เป็นผู้กล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “International Trade and Development of Thailand Amidst Global Economic Uncertainties” ให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม

โดยในวันนั้น นายกิตติรัตน์ บอกว่า ไทยเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุน ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้รับจ้างผลิตเพื่อส่งออกสินค้าและบริการ และมีความตกลงการค้าเสรี 15 ฉบับ ซึ่งล้วนเป็นโอกาสสำหรับไทย แต่ที่ผ่านมา มีการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจ ความเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า การเกิดขึ้นของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอุบัติใหม่ ทำให้หลายประเทศต้องเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและปรับโครงสร้างการส่งออกให้สอดคล้องกับกฎระเบียบสากล นำมาสู่การยกระดับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนประเทศสมาชิก และขอบเขตความตกลงที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและสิทธิแรงงานมากขึ้น รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล ที่มุ่งให้การทำธุรกรรมออนไลน์ในภูมิภาคเปิดกว้าง มีความปลอดภัย

สำหรับอุตสาหกรรมที่ ITD ได้คัดเลือกมาให้ผู้เข้าร่วมอบรมในหลักสูตร ได้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และหามาตรการขับเคลื่อน ทั้ง 4 อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหารและเกษตร อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และพลังงาน และอุตสาหกรรมยานยนต์ ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพสูง และมั่นใจว่าผู้นำที่มีศักยภาพ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมเรียนในหลักสูตรนี้ จะช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมของไทยได้


เรียนหนัก 3 เดือน

นายสุภกิจกล่าวว่า ทั้ง 81 คนนี้ จะมาเรียนรู้ด้วยกัน มาทำงานร่วมกัน เรียนแบบ 2 ภาษา ภาษาไทยและอังกฤษ โดยใช้เวลาอบรมประมาณ 3 เดือน สัปดาห์ละ 2 วัน โดยวันศุกร์ ITD จะเป็นผู้จัดหลักสูตร เชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เช่น จากอังค์ถัดมาอบรม หรือบุคคล หรือข้าราชการเก่ง ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน มาสอน มาให้ความรู้ เช่น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง , นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตผู้บริหาร และอดีตรัฐมนตรี , นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมแล้วเป็นส่วนที่ ITD รับผิดชอบ 12 วัน และวันเสาร์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาสอนเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจ การบริหารองค์กร เป็นต้น ประมาณ 8 วัน

โดยวิธีการเรียนการสอน จะไม่เป็นวันเวย์ วิทยากรจะมาพูดสั้น ๆ และใช้วิธีให้ถามตอบ ซึ่งจะทำให้ทราบประเด็นปัญหา วิธีการแก้ไข และข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อน จากนั้นจะมีการแบ่งกลุ่มตาม 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยท่องเที่ยว จะมีนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เป็นผู้กำกับดูแล เกษตรและอาหาร มีนายอัครวิทย์ กาญจนโอภาษ อดีต CEO เมืองนวัตกรรมอาหาร ยานยนต์ มีนายสุโรจน์ แสงสนิท นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และโลจิสติกส์ มีนายรุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


อยากได้ข้อเสนอแปลกใหม่-ใช้ได้จริง

นายสุภกิจสรุปว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการทำหลักสูตรครั้งนี้ จะมีการร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการ โดยอยากได้ข้อเสนอที่แปลกใหม่ ไม่เคยถูกนำเสนอมาก่อน เป็นแอกชันแพลน 1 2 3 ทำออกมาเป็นแผนปฏิบัติการที่ใช้งานได้จริง และจับต้องได้ ซึ่งจะฉายภาพให้เห็นว่าอนาคตของแต่ละอุตสาหกรรม ควรจะไปทางไหน เพราะอนาคต เราเลือกได้ ออกแบบได้ จากนั้นจะนำข้อเสนอที่ได้ทั้งหมด เสนอให้กับระดับนโยบายภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่อไป

ทั้งนี้ ITD มีกำหนดแถลงผลการอบรมหลักสูตรผู้นำยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการพัฒนา และเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้ง 4 อุตสาหกรรม ในวันที่ 29 พ.ย.2567 ที่จะถึงนี้

ส่วนปี 2568 ITD มีแผนที่จะจัดทำหลักสูตร รุ่นที่ 2 หลังจากรุ่นแรกได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี คาดว่าจะเริ่มได้ประมาณกลางปี 2568 โดยประเด็นที่จะนำมาใช้ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เชิงนโยบาย จะเน้นความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล นโยบายกระทรวงพาณิชย์ และเรื่องอื่น ๆ ที่อยู่ในบริบทการค้าและการพัฒนา อาทิ การพัฒนา SME และการผลักดันซอฟต์ พาวเวอร์ เป็นต้น ขอให้รอติดตาม รับรองมีความเข้มข้น และที่เลือกมา จะเป็นอนาคต เป็นความหวังของประเทศแน่นอน




กำลังโหลดความคิดเห็น