- • หอการค้าไทย หนุนนโยบายกระทรวงพาณิชย์ ทั้งลดรายจ่าย ช่วยผู้ประกอบการ
- • เห็นด้วยเร่งฟื้นฟูน้ำท่วม
- • มั่นใจเงิน 1 หมื่นบาท กระตุ้นการใช้จ่าย
- • เสนอโครงการคูณสอง มาตรการภาษี เพิ่มกำลังซื้อ
- • ขอเร่งแก้หนี้ในและนอกระบบ
หอการค้าไทยประกาศหนุนนโยบายการทำงาน “พาณิชย์” ทั้งการลดรายจ่าย การช่วยเหลือผู้ประกอบการ เห็นด้วยเร่งฟื้นฟูน้ำท่วม มั่นใจเงิน 1 หมื่นบาท ช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ชงทำโครงการคูณสอง มาตรการภาษี เพิ่มกำลังซื้อ ขอเร่งแก้หนี้ในและนอกระบบ ดูแลสินค้าเกษตร ป้องกันสินค้านำเข้าไร้คุณภาพ ขอกำกับดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับแข่งขันได้ หลังแข็งค่าเร็วแรง 8-10% ประเมินแข็ง 1% เสียหาย 1 แสนล้าน จี้ ธปท. ลดดอกเบี้ยด่วน คาดจีดีพีปีนี้โต 2.6-2.8% หลังรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 4
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยในการแถลงข่าวความคิดเห็นของหอการค้าฯ กับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ และการดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่ภาคธุรกิจไทยแข่งขันได้ โดยมีสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออก สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และสมาคมโรงแรมไทย เป็นต้น เข้าร่วม ว่า หอการค้าไทยเห็นด้วยกับนโยบายการขับเคลื่อนงานของกระทรวงพาณิชย์ ที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ 10 ข้อ เพราะตรงกับข้อเสนอของหอการค้าไทย ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ รวมไปถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ
โดยมาตรการลดรายจ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นด้วยกับการนำสินค้าธงฟ้าเข้าไปช่วยลดภาระให้กับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วม ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงิน 1 หมื่นบาท เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มเปราะบางทันที แต่มีข้อเสนอให้เพิ่มโครงการคูณสอง เพื่อดึงกำลังซื้อประชาชน โดยรัฐสนับสนุนกึ่งหนึ่ง ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้สูง ต้องการให้นำมาตรการจูงใจทางภาษี เช่น Easy E-Receipt เข้ามากระตุ้นการจับจ่ายในช่วงที่เหลือของปี โดยใช้งบประมาณภาครัฐไม่มาก
ส่วนมาตรการสำหรับผู้ประกอบการ เสนอให้เร่งแก้หนี้ ทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ โดยเฉพาะหนี้ที่เป็นอุปกรณ์ทำมาหากินของผู้ประกอบการรายย่อย เช่น รถกระบะที่มีแนวโน้มถูกยึดสูง รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเฉพาะเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มนี้ ให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินได้ ส่วนหนี้นอกระบบ มีแผนเข้าพบกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพุดคุยและหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา และในด้านการขยายตลาด ผู้ประกอบการอยากเห็นการทำงานเชิงรุกในตลาดตะวันออกกลาง ซาอุดิอาระเบีย จีน เวียดนาม และอินเดีย อยากเห็นการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ เร่งผลักดันการเจรจา FTA และเดินหน้าผลักดัน EEC ต่อเนื่อง โดยเร่งขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม พัฒนาระบบน้ำให้เพียงพอ และยกระดับ 10 เมืองสู่เมืองหลัก เพื่อกระจายความเจริญ ทั้งลงทุน ท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน
สำหรับนโยบายเฉพาะสำหรับแต่ละกลุ่ม ได้เสนอให้มีการทำศูนย์ประสานงานสินค้าภาคเกษตร ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงความต้องการของตลาดกับสินค้าภาคเกษตรที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ ช่วยแก้ไขปัญหาสินค้าต่างประเทศทุ่มตลาดเข้ามายังประเทศไทย การส่งเสริม Green Industry ที่ไม่ใช่เฉพาะสินค้า แต่รวมถึงภาคการค้าและบริการ โดยเฉพาะ บริษัทใหญ่ที่มีความพร้อมสามารถเข้าไปช่วยผู้ประกอบการที่อยู่ใน Supply Chain ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนได้
นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 และ 68 โดยเฉพาะงบการลงทุนและก่อสร้าง ซึ่งส่วนนี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่า 8-10% อย่างรวดเร็วและรุนแรง ปัจจุบันเคลื่อนไหวในกรอบ 33 บาทบวกลบ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โดยมีข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย หากค่าเงินบาทแข็งค่าเฉลี่ย 1% ต่อปีกระทบรายได้ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็น 0.5% ต่อจีดีพี โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรและอาหาร ที่แข่งขันได้ยากขึ้น เพราะผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้น มีปัญหาเรื่องการวางแผนการผลิตและการตลาด และวางแผนลงทุนและแผนธุรกิจได้ยากขึ้น ไม่กล้าลงทุนในโครงการใหม่หรือขยายตลาด
“ขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนอย่างรุนแรงจนเกินไป และดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และส่งเสริมผู้ประกอบการปรับตัว หาจุดแข้งและเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมทั้งต้องช่วยแก้ปัญหาสินค้าราคาถูกที่ไม่มีคุณภาพที่ไหลทะลักเข้ามา จนสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการ”นายพจน์กล่าว
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรกลงแบบเร็วและแรงที่ 0.50% จากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5.25-5.50% สู่ 4.75-5.00% จึงเห็นว่าน่าจะถึงเวลาที่ กนง. ควรพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ประกอบการภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวและบริการ สามารถที่แข่งขันได้ดียิ่งขึ้น
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายกรณีสถานการณ์น้ำท่วม ปี 2567 ประมาณ 21,577 หมื่นล้านบาท อคิดเป็น 0.12% ของจีดีพี (ข้อมูล ณ 18 ก.ย.2567) ภายใต้สมมติฐาน น้ำท่วมคลี่คลายภายใน 15 วัน โดยภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด 18,226 ล้านบาท รองลงมาเป็นภาคบริการ 3,260 ล้านบาท และภาคอุตสาหกรรม 91 ล้านบาท โดยเห็นว่า รัฐบาลควรมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐ เร่งจัดมาตรการทางการเงินช่วยเหลือ เช่น การพักชำระหนี้ การลดดอกเบี้ย หรือแม้แต่ Soft Loan เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจกลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว
ทั้งนี้ หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 กรณีนับรวมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ให้เติบโตราว 3.8–4.3% โดยทั้งปีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นอีก 0.2-0.3% และทำให้ภาพรวมจีดีพีในปีนี้เติบโตจากเดิมที่คาดไว้ 2.5% เป็น 2.6-2.8%