- 1. •*รฟท. เซ็นสัญญาจ้างนายวีริศ อัมระปาล เป็นผู้ว่าฯ คนที่ 20
- 2. •*ยืนยันสมัครเอง ปัดนายสุริยะ สั่งมา โดยอ้างว่าถ้าไม่อยากมา ก็ไม่มา และคุณสมบัติถูกต้อง
- 3. •*สคร. ยืนยันเจตนารมณ์กฎหมายไม่กีดกันสัญญาของรัฐวิสาหกิจ
- 4. •*นายวีริศ ขอเวลาศึกษางานไม่เกิน 1 เดือน
- 5. •*มั่นใจจะพารฟท. เชิดหัว
- 6. •*เร่งแก้ปัญหา PPP ไอซีดีลาดกระบัง, สร้างรายได้จากที่ดิน, แก้หนี้
รฟท.เซ็นสัญญาจ้าง "วีริศ" เป็นผู้ว่าฯ คนที่ 20 ยันสมัครเอง ปัด "สุริยะ" สั่งมา เพราะถ้าไม่อยากมาก็ไม่มา แจงคุณสมบัติถูกต้อง เช็ก สคร.เจตนารมณ์กฎหมายไม่กีดกันสัญญาของรัฐวิสาหกิจ ขอเวลาศึกษางานไม่เกิน 1 เดือน มั่นใจถึงเวลาพา รฟท.เชิดหัว เร่งแก้ PPP ไอซีดีลาดกระบัง สร้างรายได้จากที่ดิน แก้หนี้ 2 แสนล้านต้องแยกหนี้ลงทุนรัฐออก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ก.ย.) เวลา 09.09 น. การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จัดพิธีลงนามสัญญาว่าจ้าง นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย คนใหม่ (คนที่ 20) โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. เป็นผู้ลงนามในสัญญาว่าจ้าง ซึ่งนายวีริศ อัมระปาล กำหนดเริ่มทำงานทันที โดยมีผู้บริหาร รฟท.เข้าร่วมต้อนรับ ทั้งนี้ หลังลงนามบอร์ด รฟท.ได้มีการหารือร่วมกับนายวีริศเบื้องต้นเพื่อทำความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน พร้อมแนะนำผู้บริหาร รฟท.อย่างเป็นทางการ
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯ รฟท.คนใหม่ กล่าวว่า แนวทางการทำงานของตนจะสอดคล้องกับนโยบายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางเพื่อให้เป็นโครงข่ายหลักของประเทศ และการแก้ปัญหาหนี้สิน การบริหารทรัพย์สินเพื่อสร้างรายได้ และหาแนวทางปรับปรุงการบริหารภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งยอมรับว่าการแก้ปัญหาต่างๆ คงไม่สามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนใน รฟท. หลังจากนี้จะเร่งศึกษางานอย่างเร่งด่วนและพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งพนักงานรถไฟ และสหภาพฯ รฟท.ก่อน เพื่อทำความรู้จัก และรับฟังความเห็นว่าอยากให้พัฒนา รฟท.ไปในแนวทางไหน จะขอเวลาประมาณ 20-30 วัน จากนั้นจะแถลงแนวทางนโยบายการทำงานที่ชัดเจนต่อไป
“วิสัยทัศน์ของผมคือ ลดภาระหนี้ เพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความพอใจในการให้บริการ ส่วนจะทำได้มากน้อยแค่ไหนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ซึ่งจะต้องลงไปในรายละเอียดแต่ละเรื่อง ที่ผ่านมา ผมศึกษาในฐานะคนนอก รับรู้ปัญหาต่างๆ ตามที่เสนอผ่านสื่อ ตั้งใจว่าในช่วง 3 เดือนแรกอาจจะจัดการเกี่ยวกับระบบระเบียบที่เกี่ยวกับการทำงานก่อน การแบ่งงานต้องชัดเจน และโครงสร้างองค์กรต้องมีประสิทธิภาพ”
นายวีริศกล่าวถึงปัญหาหนี้สิน รฟท.ที่มีหนี้สินกว่า 2 แสนล้านบาทว่า ต้องดูว่าเป็นหนี้ส่วนที่ภาระผูกพันของรัฐบาลช่วยสนับสนุน รฟท.เท่าไร และเป็นภาระหนี้ของ รฟท.จริงๆ แค่ไหน ตรงนี้ต้องแกะออกมาให้ชัดเจน ส่วนการเพิ่มรายได้นั้น ตนมองว่า รฟท.มีที่ดินและทรัพย์สินค่อนข้างมาก มีประเด็นติดขัดอะไรที่ผ่านมา และ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด หรือ SRTA บริษัทลูก ที่ยังทำงานติดขัดเป็นเพราะอะไร ส่วนในด้านการลงทุนของ รฟท.เป็นอีกเรื่องที่เพิ่มภาระหนี้สิน แต่ก็เป็นการเพิ่มหนี้เพื่อสร้างประโยชน์ด้านคมนาคมขนส่ง ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมีเป้าหมายให้ระบบรางของไทยเป็นขนส่งสาธารณะหลักในการเดินทาง
“เท่าที่พูดคุยรับทราบข้อมูล ตอนนี้ภาวะของ รฟท.อยู่ในช่วงต่ำสุดของ U Curve แล้ว กำลังจะผงกหัวขึ้น ผมเชื่อว่าแนวทางหนึ่งคือ นโยบาย รมว.คมนาคมที่เร่งการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง จะช่วยให้รถไฟเดินหน้าไปตามเป้าหมาย”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไข และมีความหนักใจอะไรบ้าง นายวีริศกล่าวว่า "ผมอาสาเข้ามา ก็มีความตั้งใจและมั่นใจในการนำพาองค์กร รฟท.เดินหน้าต่อไป แต่ยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ยาก เป็นความท้าทายสำหรับรฟท.ที่มี พ.ร.บ.ใช้มาเป็น 100 ปีแล้ว การบริหารจัดการบุคลากรเป็นหมื่นคน และภาระงานเพิ่มแต่บุคลากรเพิ่มไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันทั้งระบบ แต่ต้องทำให้ได้ เพราะถ้าไม่ทำก็จะถอยไปเรื่อยๆ
ส่วนโครงการเร่งด่วน หรือที่มีปัญหาติดขัดในบางจุดทั้งการส่งมอบพื้นที่ การต่อรองสัญญา และอื่นๆ คงต้องไปดูกันในรายละเอียดในประเด็นเหล่านั้น ให้เดินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะประสานรองผู้ว่าฯ ผู้ช่วยฝ่ายต่างๆ ไปก่อน เช่น การแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับโครงการเอกชนร่วมลงทุนต่างๆ (PPP) จากการศึกษาโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง มีปัญหาล่าช้ามานาน เดิมเคยขนส่งได้ 2 ล้านทีอียู ตอนนี้เหลือ 1 ล้านทีอียู สินค้าหันไปใช้รถยนต์แทน ก็ต้องเร่งแก้ไข เพราะจะเป็นส่วนที่จะสร้างรายได้ให้ รฟท.ได้มาก ส่วนงานอื่นๆ เห็นว่าต้องเร่งทำตั้งแต่ตอนนี้ เพราะขั้นตอน PPP ใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะสำเร็จ
@ยันตั้งใจสมัครเองไม่เกี่ยว ‘สุริยะ’ สั่งให้มา และหารือ สคร.คุณสมบัติถูกต้อง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า นายสุริยะเลือกนายวีริศมาเป็นผู้ว่าฯ รฟท. จะยืนยันอย่างไรว่าเข้ามาทำงานเพื่อรฟท.จริงๆ และประเด็นที่มีคุณสมบัติที่ขัดต่อประกาศการรับสมัครนั้น จะชี้แจงเรื่องความถูกต้องอย่างไร นายวีริศกล่าวว่า กรณีที่มีข่าวทางสื่อออกไป ในส่วนตัวนั้นต้องขอย้อนตั้งแต่จบการศึกษา สมัคร ทำงานที่แรก คือ มูลนิธิชัยพัฒนา ก็มีความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อพัฒนาประเทศจริงๆ เพราะประเทศเราถ้ามองจากข้างนอก มีการแข่งขัน ยังมีอะไรต้องพัฒนา ต้องก้าวไป เมื่อได้มาสู่การทำงานจริงๆ แล้ว ชีวิตก็พลิกผันไปในหลายๆ ที่ ได้พยายามมากที่สุด ในการทำหน้าที่ของตัวเองในการพัฒนาประเทศ ในฐานะที่ได้มีโอกาสศึกษาได้ความรู้จากต่างประเทศด้วย ก็ได้นำความรู้เหล่านั้นมาช่วยพัฒนาประเทศ
“ประเด็นที่เกี่ยวกับท่านสมศักดิ์ (สมศักดิ์ เทพสุทิน) และท่านสุริยะ และท่านอื่นๆ จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ก็ทำหน้าที่ที่ปรึกษาในกรรมาธิการต่างๆ ผมก็พยายามที่จะทำในทุกหน้าที่ของผมเพื่อพัฒนาประเทศ การมาเป็นผู้ว่าฯ รฟท.ก็เป็นจังหวะหนึ่งที่ผมคิดว่าผมสามารถทำได้ ผมจึงสมัครเข้ามา ดังนั้น ถ้าถามว่าผมสมัครด้วยตัวเอง หรือท่านสุริยะจิ้มมา ต้องบอกว่าถ้าท่านสุริยะจิ้มมา แล้วผมไม่อยากมา ผมก็ไม่มา เพราะฉะนั้น ผมบอกได้ครับว่าเป็นความตั้งใจของผม” นายวีริศกล่าว
ส่วนกรณีคุณสมบัตินั้น นายวีริศกล่าวว่า ตนมาตามกระบวนการ และระหว่างทางได้ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และฝ่ายกฎหมายมาตลอด ยืนยันว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายที่เป็นประเด็นไม่ได้เพื่อกันหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่อรัฐวิสาหกิจ แต่เจตนารมณ์เขียนไว้เพื่อป้องกันองค์กรที่จะมาหาประโยชน์ แต่ตนไม่มีอะไรที่จะมาหาประโยชน์ เป็นเรื่องของหน่วยงานรัฐที่ต้องบูรณาการช่วยเหลือกัน เช่น ประเทศเจริญแล้วในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทำไมถึงบอกว่ามีต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำ เพราะมีการลากทางรถไฟเข้าไปถึงโรงงาน ให้ขนส่งทุกอย่างขึ้นรถไฟไปลงเรือ หรือถึงเป้าหมายปลายทางได้เลย เชื่อมการเดินทางโหมดอื่นเลย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน ตนรู้โจทย์นี้เป็นสิบปี และขออาสาเข้ามาช่วยทำงานตรงนี้
@พร้อมดูแลสวัสดิการพนักงานให้เหมาะสม
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวทางการร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) อย่างไร นายวีริศกล่าวอีกว่า ตนไม่มีประเด็นอะไรกับสหภาพฯ และไม่ได้ตั้งธงอะไร ก็จะมีการนัดหมายกันเร็วๆ นี้ ตนเห็นว่าเรื่องผลประโยชน์และสวัสดิการของพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องดูว่าอะไรดี ที่เหมาะสม ที่ทำได้ ในฐานะที่เคยเป็นคนนอกก็หวังว่า พนักงานจะได้รับสวัสดิการเต็มที่ แต่ต้องไม่เกินลิมิตที่รัฐจะให้ได้ เพราะที่ตนเคยอยู่ กนอ.ก็ไม่เคยมีประเด็นกับสหภาพฯ มีแต่ซัปพอร์ตให้ได้รับสวัสดิการที่ดี
@รับค่าตอบแทน เดือนละ 3.7 แสนบาท
ทั้งนี้ ตามสัญญาจ้าง นายวีริศ อัมระปาล ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯรฟท.เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2567 โดยได้รับค่าตอบแทนคงที่เริ่มต้นที่อัตราเดือนละ 370,000 บาท (กรอบการปรับค่าตอบแทนคงที่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ) ค่าตอบแทนพิเศษ สิทธิประโยชน์อื่นและเงื่อนไขตามร่างสัญญาจ้าง ตามที่กระทรวงการคลังได้พิจารณา