กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ “หินอ่อนพรานกระต่าย” ของดีจังหวัดกำแพงเพชร เผยเป็นสินค้ารายการที่ 2 หลังจากขึ้นทะเบียนกล้วยไข่กำแพงเพชรไปก่อนหน้านี้ มั่นใจทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้ชุมชนมากขึ้น
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ คือ หินอ่อนพรานกระต่าย ของจังหวัดกำแพงเพชร เป็นสินค้า GI รายการที่ 2 ต่อจากสินค้ากล้วยไข่กำแพงเพชรที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้ โดยมั่นใจว่าหลังจากขึ้นทะเบียน GI แล้ว จะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก และสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มมากขึ้นจากเดิมที่ทำได้ประมาณปีละ 19 ล้านบาทอย่างแน่นอน
สำหรับหินอ่อนพรานกระต่าย เกิดจากหินปูนแปรสภาพและมีการตกผลึกใหม่ของเม็ดแร่ ซึ่งประกอบไปด้วยหินหลายชนิดตั้งแต่หินตะกอน หินแปร หินอัคนี และตะกอนร่วน ที่มีอายุมากกว่า 570 ล้านปี ด้วยแหล่งภูมิศาสตร์นี้ ส่งผลให้ หินอ่อนพรานกระต่าย เป็นหินอ่อนที่มีคุณภาพดี เนื้อละเอียด มีชั้นหนา แข็งแรงคงทน และมีหลากหลายสี ทั้งสีเขียว สีชมพูอมเทา สีเทา สีเขียวเหลือง สีขาวอมเทา โดยเฉพาะหินสีชมพูอ่อนนั้น พบว่า มีแห่งเดียวในประเทศไทยที่สามารถพบได้ในจังหวัดกำแพงเพชรเท่านั้น หากนำไปขัดแล้วจะเงาสวยงามตามธรรมชาติของหินอ่อน ซึ่งมีทั้งแบบพื้นผิวมันเงาและพื้นผิวด้าน
ปัจจุบันนอกจากจะมีการนำหินอ่อนมาใช้ในการก่อสร้างแล้ว ยังนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ได้แก่ โต๊ะ เก้าอี้ ชุดหมู่บูชา หรือศาลเจ้า เป็นต้น ทำให้หินอ่อนพรานกระต่าย กลายเป็นสินค้าประจำจังหวัดกำแพงเพชร มีอัตลักษณ์ชัดเจน และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
ทั้งนี้ ล่าสุดมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ทั่วประเทศแล้ว 208 สินค้า สร้างมูลค่าการค้ากว่า 73,000 ล้านบาทต่อปี โดยเกษตรกรหรือชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดที่สนใจนำสินค้าชุมชนที่มีอัตลักษณ์และเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ สามารถนำมาปรึกษาเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ศูนย์บริการประชาชน กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 1368
ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียน GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้า GI เป็นสินค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนโยบาย Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล