xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม”เปิดรับฟังความเห็นเร่งตั้งองค์กรพิเศษกำกับ"ไฮสปีด"วางโมเดล”บริษัทจำกัด”เน้นคล่องตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • •*ประเด็นสำคัญ:
  • • ตั้งองค์กรพิเศษกำกับโครงการ: คมนาคมเปิดรับฟังความคิดเห็นเอกชน เพื่อวางโมเดลจัดตั้งองค์กรพิเศษกำกับโครงการรถไฟความเร็วสูง
  • • บริษัทจำกัดเหมาะสม: ชูแนวคิดจัดตั้งบริษัทจำกัด รับสิทธิใช้โครงสร้างพื้นฐานที่รัฐสร้างไปบริหาร
  • • เดินรถจ้างเอกชนหรือ PPP: ส่วนการเดินรถ เล็งจ้างเอกชน หรือใช้รูปแบบ PPP (Public-Private Partnership)
  • • เร่งชง ครม. เดินหน้าปี 68: คาดว่าจะเสนอ ครม. อนุมัติภายในปี 2568


“คมนาคม”เปิดเวทีฟังความคิดเห็นเอกชน วางโมเดลตั้งองค์กรพิเศษกำกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ชูตั้งบริษัทจำกัด เหมาะสม โดยให้รับสิทธิใช้โครงสร้างพื้นฐานที่รัฐสร้างไปบริหาร ส่วนเดินรถเล็งจ้างเอกชนหรือ PPPเร่งชงครม.เดินหน้าตั้งปี 68

วันที่ 13 กันยายน 2567 นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิญชวนนักลงทุน (Call For Interest) โครงการศึกษาแนวทางการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยมีผู้บริหารภาคเอกชน และนักลงทุน ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุม

นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพิจารณาถึงแนวทางการจัดตั้ง “องค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูง” โดยกำหนดให้เป็นองค์กรอิสระจากการกำกับกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้มีโครงสร้างองค์กรที่มีความคล่องตัวและเหมาะสมสำหรับดำเนินกิจการระบบรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งกำหนดมาตรการ หรือแนวทางในการสนับสนุน ทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ โดยไม่เป็นภาระผูกพันต่องบประมาณของรัฐ สามารถวางแผนและควบคุมให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการเชิญชวนนักลงทุน (Call For Interest) ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญในการศึกษาโครงการ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลการศึกษาโครงการให้ภาคเอกชน ได้รับทราบนโยบายและแนวทางการพัฒนาของภาครัฐ และให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลอีกทั้งร่วมแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้ภาครัฐได้รับทราบความต้องการของภาคเอกชน เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย และเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารรถไฟความเร็วสูง

ปัจจุบันมีโครงการสำคัญคือ โครงการรถไฟความเร็วสูง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งอยู่ระหว่าง การก่อสร้างงานโยธา มีความคืบหน้าแล้วประมาณร้อยละ 35


โดยสามารถสรุปแนวทางการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ดังนี้ โดยจะจัดตั้งเป็นองค์กรใหม่ ที่มีรูปแบบการบริหารจัดการที่รวมภารกิจการบำรุงรักษาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานกับการเดินรถไว้ในหน่วยงานเดียวกัน ซึ่งจะสรุปผลการศึกษาเสนอกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2567 และคาดว่าจะสามารถจัดตั้งองค์กรพิเศษได้ในปี 2568 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดเดินรถระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในปี 2571 และการเปิดเดินรถระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ต่อไป

ส่วนรูปแบบโครงสร้างในการกำกับดูแลและการบริหารจัดการโครงการรถไฟความเร็วสูง มีรายละเอียด ดังนี้ 1.หน่วยงานที่กำกับดูแล ได้แก่ กรมการขนส่งทางราง 2.หน่วยงานที่รับผิดชอบในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐ ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย 3.หน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจการบริหารจัดการ บำรุงรักษา และให้บริการเดินรถ แสวงหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง โดยให้จัดตั้งเป็น บริษัท จำกัด ในสังกัดกระทรวงคมนาคม (สามารถปรับเป็นบริษัทมหาชน ได้ในอนาคต)

มีขอบเขตหน้าที่ และแนวทางในการดำเนินกิจการ ดังนี้ 1.ได้รับสิทธิในการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่รัฐสร้างขึ้น ทั้งโครงการที่กำลังพัฒนา และโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 2.ดำเนินกิจการได้ทั้งในรูปแบบเดินรถเอง จ้างเดินรถ หรือให้สิทธิเอกชนเดินรถในรูปแบบ PPP 3.ธุรกิจสามารถดำเนินการได้โดยการดำเนินการเอง หรือร่วมทุนกับภาคเอกชนเพื่อจัดตั้งบริษัท จ้างเอกชนดำเนินการ หรือให้สิทธิหรือสัมปทานแก่เอกชน

ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมีจุดเด่น คือ 1.มีความคล่องตัว 2.มีความยืดหยุ่น รองรับการพัฒนาในอนาคต 3.ปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี 4.สามารถควบคุมนโยบายของภาครัฐ 5.เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบ


โดยบริษัทที่ปรึกษานำเสนอ การศึกษาการดำเนินงานขององค์กรรถไฟความเร็วสูงในต่างประเทศ พบว่า โดยทั่วไปมีการแบ่งความรับผิดชอบของการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย การก่อสร้างทางรถไฟ สถานีรถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบสื่อสารโทรคมนาคม รวมถึงรับผิดชอบภาระทางการเงินในการก่อสร้างและเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐาน

2.การบริหารจัดการและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย การบริหารจัดการและบำรุงรักษาทางรถไฟ สถานีรถไฟ ระบบอาณัติสัญญาณ และระบบสื่อสารโทรคมนาคม รวมถึงจัดตารางการเดินรถ

3.การเดินรถ ประกอบด้วย การจัดการถจักรล้อเลื่อน การบำรุงรักษารถจักรล้อเลื่อน การให้บริการเดินรถ การจำหน่ายตั๋ว และทำการตลาด


ทั้งนี้ ภายหลังการสัมมนาในครั้งนี้ กระทรวงคมนาคม จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน นำมาประกอบผลการศึกษาโครงการเพื่อให้การจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง มีความเหมาะสม ลดภาระงบประมาณของรัฐได้


กำลังโหลดความคิดเห็น