xs
xsm
sm
md
lg

PRINC จับมือSCGC-พันธมิตร ผลิตกระเบื้องพีวีซีรักษ์โลกจากถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) และ เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) พร้อมด้วย แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (Baxter Healthcare) บริษัทด้านยาและเวชภัณฑ์ระดับโลกที่มุ่งให้ความสำคัญกับสุขภาพไตของคนไทย และ ไดโนเฟล็กซ์ (Dynoflex) ผู้ผลิต จัดจำหน่าย และบริการติดตั้งวัสดุตกแต่งพื้นไวนิลทั้งในและต่างประเทศ ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน โครงการกระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลจากถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้วเป็นครั้งแรกในประเทศไทย นำร่องไปใช้ติดตั้งที่หอพักผู้ป่วยโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ และเตรียมขยายไปยังโรงพยาบาลในเครืออีก 3 จังหวัด

นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด มหาชน (PRINC) เปิดเผยว่า บริษัทมุ่งเป็นต้นแบบโมเดลการบริหารจัดการโรงพยาบาลอย่างยั่งยืน (sustainable hospital) จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ ‘ขยะทางการแพทย์’ ซึ่งถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้วเป็นหนึ่งในขยะทางการแพทย์ที่มีจำนวนมาก และเป็นประเภทขยะพลาสติกที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วย หากมีการบริหารจัดการขยะที่ดีและถูกต้อง จะทำให้ขยะดังกล่าวไม่กลายเป็นขยะติดเชื้อ

ประกอบกับปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง 8 ล้านคน และมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี โดยมีผู้ป่วยมากกว่า 25,000 คน จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งผู้ป่วย 1 คน ใช้น้ำยาล้างไตประมาณ 1,460 ถุงต่อปี คิดเป็นขยะทางการแพทย์ถึง 145 ตันต่อเดือน หรือ 1,740 ตันต่อปี ดังนั้นบริษัทจึงมีความร่วมมือกับ SCGC ผู้เชี่ยวชาญด้านพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนากระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลจากถุงน้ำยาล้างไตออกมาได้สำเร็จ สามารถใช้งานได้จริง สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ของ PRINC อย่างแท้จริง 


นายชาตรี เอี่ยมโสภณา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพาณิชย์ เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) กล่าวว่า ถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้วเป็นพลาสติกชนิดพีวีซี นับเป็นขยะทางการแพทย์ที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดการแบบ Closed - Loop โดยเก็บกลับเข้าสู่ระบบอย่างถูกวิธี และใช้กระบวนการรีไซเคิลขั้นสูง จะสามารถเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างคุณประโยชน์ได้อีกมากสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดย SCGC ได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลพร้อมทั้งโซลูชันด้าน Green Polymer เปลี่ยนถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้วเป็นเม็ดพลาสติกพีวีซีรีไซเคิลคุณภาพสูง ด้วยเทคโนโลยีรีไซเคิลจาก SCGC โดยยังคงประสิทธิภาพและคุณสมบัติได้เช่นเดิม ปลอดภัยในการใช้งาน สามารถผลิตเป็นกระเบื้องพีวีซีรีไซเคิล ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยใช้ทดแทนพีวีซีได้ถึง 80% ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่วิถีสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวทาง Low Waste, Low Carbon เพื่อโลกที่ยั่งยืน

โดยเบื้องต้น ได้นำร่องรีไซเคิลถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้วเป็นจำนวน 5,320 ถุง คิดเป็นขยะพลาสติกพีวีซี 800 กิโลกรัม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 1,110 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 120 ต้น


นายพอล อุทัยชลานนท์ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม บริษัท แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า แบ็กซ์เตอร์มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อการมีชีวิตอย่างยั่งยืนของผู้ป่วย สังคม และชุมชน ซึ่งเราตระหนักดีถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะถุงน้ำยาล้างไตที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี แบ็กซ์เตอร์ในฐานะผู้นำในธุรกิจนี้ เราพร้อมให้ความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณขยะจากถุงน้ำยาล้างไต สำหรับโครงการฯ นี้เราเน้นไปที่การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้ป่วย เกี่ยวกับวิธีการทำความสะอาดถุงน้ำยาล้างไตอย่างถูกต้องก่อนทิ้ง ตามแนวทางจากกรมอนามัย เพื่อนำขยะถุงน้ำยาล้างไตกลับมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะเป็นพลังสำคัญในการลดปริมาณขยะถุงน้ำยาล้างไต และสร้างสังคมที่ยั่งยืน


นายกนิษฐ์ สารสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด (Dynoflex) กล่าวว่า Dynoflex มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด โครงการกระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลจากถุงน้ำยาล้างไต เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่บริษัทได้ใช้เทคโนโลยี องค์ความรู้และประสบการณ์ ในการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำขยะทางการแพทย์หมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ โดยสามารถลดการใช้ทรัพยากรลง แต่ยังคงคุณลักษณะทางด้านคุณภาพตามมาตรฐานสากลเช่นเดิม

สำหรับโครงการกระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลจากถุงน้ำยาล้างไตดังกล่าว มีแผนติดตั้งในพื้นที่อาคารปรับปรุงใหม่ของโรงพยาบาลในเครือ PRINC ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิโรงพยาบาลรวมแพทย์ พิษณุโลก โรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ และโรงพยาบาลพริ้นซ์ มุกดาหาร คิดเป็นพื้นที่ติดตั้งทั้งหมด กว่า 9,000 ตารางเมตร


กำลังโหลดความคิดเห็น