xs
xsm
sm
md
lg

“พิชัย”ประกาศลุยงาน ดูแลค่าครองชีพ สินค้าเกษตร ช่วย SME เจรจาการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พิชัย” เข้ากระทรวงพาณิชย์วันแรก ประกาศพร้อมลุยงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ร่วมกับ 2 รัฐมนตรีช่วย “นภินทร-สุชาติ” เผยนโยบายทำงานและงานเร่งด่วน จะให้ความสำคัญกับการดูแลประชาชน ค่าครองชีพ สินค้าเกษตร SME เจรจาการค้า ป้องกันสินค้าไม่มีคุณภาพ พร้อมนัดผู้บริหารมอบนโยบาย 16 ก.ย.นี้

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงพาณิชย์ ว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ได้เดินทางเข้ามายังกระทรวงพาณิชย์ ต้องขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่แต่งตั้งมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รู้สึกยินดี และพร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ ทั้ง 2 ท่าน นายนภินทร ศรีสรรพางค์ และนายสุชาติ ชมกลิ่น โดยจะเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่กระทรวงพาณิชย์จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยได้หลายเรื่อง

สำหรับนโยบายการทำงาน และภารกิจเร่งด่วนที่จะขับเคลื่อน รอให้มีการแถลงนโยบายรัฐบาลก่อน ตอนนี้บอกได้เพียงหัวข้อ ซึ่งได้เตรียมไว้หมดแล้ว จะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ค่าครองชีพลดลง การดูแลสินค้าเกษตร การดูแลผู้ประกอบการ SME การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และการป้องกันสินค้าไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ ซึ่งพร้อมที่จะเปิดแนวทางทั้งหมดต่อไป


ทั้งนี้ กำหนดไว้วันที่ 16 ก.ย.2567 จะประชุมมอบนโยบายการทำงานให้กับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ และเปิดนโยบายการทำงาน รวมไปถึงการแบ่งงานให้กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ทั้ง 2 ท่าน

“เศรษฐกิจของประเทศ ประสบปัญหามาหลายปี ต้องเร่งแก้ไข และเชื่อว่ากระทรวงพาณิชย์จะช่วยได้มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง SME ที่ปัจจุบันประสบปัญหาเยอะ ต้องเร่งช่วยเหลือ ซึ่งในส่วนที่ประสานได้ก็จะเร่งประสาน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ และส่วนกระทรวงพาณิชย์ ก็จะช่วยเหลือในการหาตลาด บุกตลาด และเรื่องการเจรจาการค้า ก็ต้องเดินหน้าต่อ มีแผนงานไว้แล้ว”

ส่วนเรื่องสินค้าจีน ไม่ขอใช้คำว่าสินค้าจีน จะกลายเป็นว่าเราต่อต้านสินค้าจีนอย่างเดียว โดยสถานทูตจีน ก็มีความกังวล ไม่ต้องการให้มองเป็นผู้ร้าย ซึ่งจะพูดคุยและหารือกับจีนเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป เพราะหลักของกระทรวงพาณิชย์ คือ การดูแลสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไม่มีมาตรฐานจากทุกประเทศที่เข้ามา เพื่อปกป้อง SME และผู้บริโภค


กำลังโหลดความคิดเห็น