- • สนค.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 30 หน่วยงาน เพื่อร่างแผนปฏิบัติการเรื่องการค้าสินค้าอุตสาหกรรม ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติ พ.ศ. 2568–2570
- • เน้น 4 ประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อน:
- • ยกระดับสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
- • พัฒนาศักยภาพบุคลากร
- • ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
- • สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน
สนค.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 30 หน่วยงาน จัดทำร่างแผนปฏิบัติการเรื่อง การค้าสินค้าอุตสาหกรรม ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติ พ.ศ. 2568-2570 เคาะ 4 ประเด็นขับเคลื่อนสำคัญ ยกระดับสินค้าให้สอดคล้องความต้องการของตลาด พัฒนาระบบนิเวศ เสริมทักษะแรงงาน และสร้างภูมิคุ้มกันรับกติกาโลก เตรียมปรับปรุงแผนให้สมบูรณ์ เปิดรับฟังความเห็น ก่อนเสนอสภาพัฒน์ เสนอ ครม. พิจารณา
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้จัดการประชุมรับฟังความเห็นต่อร่างแผนปฏิบัติการเรื่อง การค้าสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ประเด็นสำคัญ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติ พ.ศ. 2568-2570 โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้การค้าสินค้าอุตสาหกรรมของไทยเติบโต จำนวนกว่า 30 หน่วยงาน มาร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และแผนในการขับเคลื่อนการค้าสินค้าอุตสาหกรรมของไทย
ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มูลค่า GDP ภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 30.43 ของ GDP ไทย และสินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทยยังเป็นสินค้าอุตสาหกรรมทั้งสิ้น โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 130,601.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.81 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย
นายพูนพงษ์กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของแผนปฏิบัติการเรื่อง การค้าสินค้าอุตสาหกรรมใน 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1. ยกระดับสินค้าอุตสาหกรรมให้สอดรับกับความต้องการตลาด โดยมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าอุตสาหกรรมเดิม และส่งเสริมการเติบโตสินค้าอุตสาหกรรมใหม่ ด้วยการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาด การแสวงหาวัตถุดิบที่หลากหลายจากทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมไทยให้มีมาตรฐานระดับสากล รักษาฐานตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่ พร้อมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ
2. พัฒนาระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน โดยสนับสนุนความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการและลดทอนอุปสรรคทางการค้า เช่น ส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมและส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศสีเขียวภายในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม สร้างโอกาสและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ขยายการเจรจาและส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงและความร่วมมือทางการค้า รวมถึงการทบทวนข้อกฎหมายหรือกฎระเบียบ เพื่อลดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ
3. เร่งเสริมทักษะแรงงาน ทั้งการสนับสนุนการสร้างแรงงานใหม่ (New skill) และการส่งเสริมทักษะแรงงานเดิม (Reskill & Upskill) เช่น ยกระดับทักษะ สมรรถนะ และศักยภาพของแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน พัฒนาหลักสูตรของสถาบันการศึกษาให้สามารถสร้างบุคลากรใหม่ที่มีศักยภาพและตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น และการดึงดูดแรงงานต่างชาติ ที่มีทักษะให้เข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น
4. สร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม และมุ่งสร้างความสามารถในการปรับตัว เช่น ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่การทำธุรกิจฐานนวัตกรรม และการผลิตผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูง จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์อุตสาหกรรม พัฒนาและจัดการฐานข้อมูล รวมถึงพัฒนาระบบเฝ้าระวัง/เตือนภัยภาคอุตสาหกรรม
“การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญเพื่อให้เกิดแนวทางการขับเคลื่อนที่จะผลักดันการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างเป็นระบบตลอดห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงมุ่งส่งเสริมและสร้างเกราะป้องกันอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัวได้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดย สนค.จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับไปพัฒนาและปรับปรุงแผนดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ก่อนนำไปรับฟังความเห็นในวงกว้างกลางเดือน ก.ย. 2567 และจะเสนอแผนดังกล่าวต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบและประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป” นายพูนพงษ์กล่าว