กทพ.ประชุมรับฟังความเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด พร้อมเปิด 4 เส้นทางเลือก เคาะแนวต้นปี 68 คาดลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท สรุป พ.ค. 69 ชง ครม.เปิดประมูล เริ่มสร้างปี 72 เปิดปี 76 ชาวบ้านหนุนชี้เดินทางสะดวก แต่ค่าผ่านทางต้องไม่แพง
วันนี้ (2 กันยายน 2567) เวลา 08.30-12.30 น. ณ ห้องประชุมทับทิมสยาม โรงแรมเอวาด้า อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด โดยมีนายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ กทพ. และนายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดการประชุมฯ เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลโครงการ ได้แก่ ความเป็นมา วัตถุประสงค์ พื้นที่ศึกษา ขอบเขตการดำเนินงาน แผนดำเนินงาน และแนวคิดการพัฒนาของโครงการ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาควิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และผู้สนใจ ได้มีโอกาสร่วมรับรู้ข้อมูลโครงการตั้งแต่ต้น และได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับนำไปประกอบการดำเนินงานศึกษาต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมฯ
นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า จากผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันจังหวัดตราด ครั้งที่ 2/2563 นั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้มีข้อสั่งการ ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ให้ กทพ.ประสานการดำเนินงานร่วมกับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในการดำเนินการสำรวจศึกษาและออกแบบสะพานข้ามเกาะช้าง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านการคมนาคมของประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะการเข้ามารักษาพยาบาลในตัวเมืองตราดและเดินทางเพื่อเรียนหนังสือให้สะดวกสบายมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับจังหวัดตราด เพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ สนับสนุน และอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมอีกด้วย
ดังนั้น กทพ.จึงได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เทสโก้ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด และบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด ครอบคลุม การสำรวจและออกแบบกรอบรายละเอียด และการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ ระยะเวลาศึกษา 24 เดือน (วันที่ 30 พ.ค. 67-วันที่ 19 พ.ค. 69)
จากนั้น กทพ.จะดำเนินการในขั้นตอนการขออนุมัติโครงการต่อไป คาดว่าจะเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2572 เปิดให้บริการในปี 2576 ประเมินค่าลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาท โดยจะมีการดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์โครงการและการมีส่วนร่วมของประชาชนควบคู่ไปด้วย ซึ่งกทพ.จะนำข้อเสนอแนะ ข้อห่วงใยของผู้มีส่วนร่วมไปพิจารณา เช่น พิจารณาขยายถนนภายในเกาะช้างเพื่อรองรับปริมาณรถที่มาจากสะพาน, จุดพักรถ หรือ Rest Area ,จุดบริการห้องน้ำ จุดเช็กอิน รวมถึงเลนสำหรับจักรยานยนต์ นอกจากนี้ จะหารือกับหน่วยงานด้านสาธารณูปโภค ประปา ไฟฟ้า สื่อสาร ที่อาจจะใช้โครงสร้างสะพานแทนท่อใต้ทะเล เป็นต้น
นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวว่า สะพานเชื่อมเกาะช้างมีการพูดมานานแล้ว แต่ไม่ชัดเจน ครั้งนี้น่าจะเป็นรูปธรรมมากที่สุด ซึ่งช่วงก่อนเกิดโควิด จังหวัดตราดมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่เกาะช้างและอื่นๆ กว่า 2 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมีรายได้ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัญหาด้านการท่องเที่ยวคือการเดินทาง การสร้างทางด่วนเชื่อม จะต้องศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน จะต้องได้มากกว่าเสีย มีการลงทุนสูง จะต้องใช้ศีลธรรมนำสินทรัพย์ และขอให้ภาคเอกชนและประชาชนจะต้องร่วมกันแสดงความคิดเห็น
@เปิด 4 แนวเส้นทางเลือก ยึดผลกระทบน้อยที่สุดทั้งประชาชน และสิ่งแวดล้อม
จากการศึกษาทบทวนและรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากจุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุดของโครงการที่มีความเหมาะสม และหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดแนวเส้นทางเลือก จึงสามารถกำหนดแนวเส้นทางเลือกของโครงการ จำนวน 4 แนวเส้นทางเลือก ดังนี้
แนวเส้นทางเลือกที่ 1 จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3156 บริเวณ กม. 0+850
บ้านหนองปรือ ตำบลแหลมงอบ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และตัดผ่านขอบพื้นที่ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติภาคตะวันออก ตัดผ่าน ถนนอนุสรณ์สถาน และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณระหว่างท่าเรือกรมหลวงชุมพรและท่าเรือเฉลิมพล จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ และไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม. 8+550 บ้านด่านใหม่ ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง สำหรับจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านหนองปรือ จะตัดผ่านพื้นที่อยู่อาศัยบ้างเล็กน้อย
ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่างๆ ซึ่งแนวเส้นทางต้องยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่าง ๆ สามารถลอดผ่านได้ โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น ทั้งนี้ แนวเส้นทางเลือกที่ 1 มีระยะทางรวมประมาณ 9.82 กิโลเมตร
แนวเส้นทางเลือกที่ 2 จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางจะเป็นตำแหน่งเดียวกันกับแนวเส้นทางเลือกที่ 1 ซึ่งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3156 บริเวณ กม.0+850 โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และตัดผ่านขอบพื้นที่ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติภาคตะวันออก ตัดผ่านถนนอนุสรณ์สถานและเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณระหว่างท่าเรือกรมหลวงชุมพรและท่าเรือเฉลิมพล จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ แล้วไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม.6+750 บ้านด่านใหม่ ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง สำหรับจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านหนองปรือจะตัดผ่านพื้นที่อยู่อาศัยบ้างเล็กน้อย
ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่างๆ ซึ่งแนวเส้นทางต้องยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่าง ๆ สามารถลอดผ่านได้ ส่วนบริเวณก่อนถึงชายฝั่งของเกาะช้างแนวเส้นทางจะต้องยกข้ามพื้นที่ปะการัง ซึ่งมีความกว้างประมาณ 100 เมตร โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น ทั้งนี้แนวเส้นทางเลือกที่ 2 มีระยะทางรวม ประมาณ 9.95 กิโลเมตร
แนวเส้นทางเลือกที่ 3 จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร.4006 บริเวณ
กม.2+840 บ้านธรรมชาติล่าง ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศใต้ ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณด้านทิศตะวันตกของท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้านธรรมชาติล่าง จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ แล้วไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม.5+300 บ้านด่านใหม่ ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง สำหรับบริเวณจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านธรรมชาติล่างจะตัดผ่านพื้นที่อยู่อาศัยบ้างเล็กน้อย
ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่างๆ ซึ่งแนวเส้นทางต้องยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่างๆ สามารถลอดผ่านได้ ส่วนบริเวณชายฝั่งของเกาะช้างแนวเส้นทางจะต้องยกข้ามพื้นที่ปะการัง ซึ่งมีความกว้างประมาณ 100-200 เมตร โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น ทั้งนี้ แนวเส้นทางเลือกที่ 3 มีระยะทางรวมประมาณ 5.90 กิโลเมตร
แนวเส้นทางเลือกที่ 4 จุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร.4006 บริเวณ กม. 3+500 บ้านธรรมชาติล่าง ตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศใต้ ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณด้านทิศตะวันตกของท่าเรือเกาะช้างอ่าวธรรมชาติ จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ แล้วไปเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม.1+900 บ้านคลองสน ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง สำหรับบริเวณจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านธรรมชาติล่างจะตัดผ่านพื้นที่เกษตรกรรม
ส่วนในทะเลจะตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่างๆ ซึ่งแนวเส้นทางต้องยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่างๆ สามารถลอดผ่านได้ ส่วนบริเวณก่อนถึงชายฝั่งของเกาะช้าง แนวเส้นทางจะต้องยกข้ามพื้นที่หญ้าทะเล ซึ่งมีความกว้างประมาณ 150-200 เมตร โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น ทั้งนี้ แนวเส้นทางเลือกที่ 4 มีระยะทางรวมประมาณ 5.59 กิโลเมตร
ทั้งนี้ โครงการจะทำการศึกษาและเปรียบเทียบแนวเส้นทางเลือกแต่ละแนว โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจและการเงิน และด้านสิ่งแวดล้อม ทิศทางของกระแสลม, เส้นทางการเดินเรือชนิดต่างๆ, ความลึกของท้องทะเล, ทิศทาง ความเร็ว ของกระแสน้ำทะเล หลีกเลี่ยงกานเกิดผลกระทบต่อพื้นที่อ่อนไหวเช่น พื้นที่ปะการัง, หญ้าทะเล, ที่อยู่อาศัยโลมา เพื่อคัดเลือกแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากกาศในการประชุม ภาคท้องถิ่น เอกชน และประชาชน ได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการมีทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง เพราะจะทำให้ประชาชนเดินทางเข้า จ.ตราดสะดวกในทุกเวลา โดยเฉพาะกรณีเจ็บป่วยตอนกลางคืน และประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า แต่กังวลเรื่องผลกระทบเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แนวปะการัง สิ่งแวลดล้อมชายทะเล และอัตราค่าผ่านทางที่ไม่แพงเกินไป รวมถึงปริมาณรถที่จะเพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการจราจร ของถนนเกาะช้างที่อาจจะเกิดปัญหาได้
โดยแผนดำเนินงานการมีส่วนร่วม ช่วงเดือน ต.ค.- ธ.ค. 67 จะลงพื้นที่เพื่อประชุมกลุ่มย่อย เพื่อคัดเลือกแนวเส้นทาง และช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 68 ประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 พร้อมเสนอเส้นทางที่เหมาะสม และรูปแบบการพัฒนามาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม และ ต.ค.-พ.ย.68 ประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 สรุปผลการศึกษา