- • กรมพัฒนาธุรกิจการค้าวิเคราะห์ธุรกิจสมุนไพรไทยพบโอกาสเติบโตสูง
- • คนให้ความสำคัญกับสุขภาพด้วยสมุนไพรมากขึ้น
- • ตลาดในประเทศและต่างประเทศมีความต้องการสูง
- • นักท่องเที่ยวยังนิยมซื้อสินค้าสมุนไพรไทย เช่น ยาดม ยาหม่อง เครื่องสำอาง ยา อาหาร
- • สินค้าสมุนไพรไทยเป็นที่นิยมทั้งใช้เองและเป็นของฝาก
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าวิเคราะห์ธุรกิจเชิงลึก พบธุรกิจสมุนไพรไทยมีโอกาส ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ หลังคนให้ความสำคัญดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพร เผยนักท่องเที่ยวยังนิยมซื้อไปใช้เองหรือเป็นของฝาก ทั้งยาดม ยาหม่อง เครื่องสำอาง ยา อาหาร ยิ่งได้แรงหนุนจากนักร้องดัง “ลิซ่า” และนักกีฬายกน้ำหนัก ดมยาดม ยิ่งเป็นที่สนใจ ช่วยหนุน Soft Power ดังไกลระดับโลก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมได้ทำการวิเคราะห์รายธุรกิจในเชิงลึกพบว่า ธุรกิจสมุนไพรไทยมีโอกาสที่น่าสนใจ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพตัวเอง โดยเฉพาะทางเลือกใหม่ในการป้องกันโรคด้วยการรักษาด้วยการใช้สมุนไพร ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง เพราะสมุนไพรเป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของไทยที่มีมาช้านาน รวมทั้ง ยังมีกระแสความนิยมในการบริโภคอุปโภคผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ยิ่งตอกย้ำตลาดสมุนไพรให้ขยายวงกว้าง และมีกลุ่มผู้บริโภคหลายหลากมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น ยังมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับสัตว์และสมุนไพรในการกําจัดศัตรูพืชเกิดขึ้นอีกด้วย จึงเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยในการเข้าทำธุรกิจในช่วงเวลานี้เป็นอย่างมาก
สำหรับธุรกิจสมุนไพร มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ไม่เพียงแต่ตลาดในประเทศ แต่ตลาดต่างประเทศก็เติบโตต่อเนื่อง เพราะสินค้าของไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ ที่มักจะซื้อใช้งานเองหรือนำกลับไปเป็นของฝาก เมื่อเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย อาทิ ยาดม ยาหม่อง เครื่องสำอาง ยา และอาหาร เป็นต้น
“ยิ่งเกิดปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์ ที่ผู้มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยและต่างชาติหยิบสินค้าไทย โดยเฉพาะยาดม ขึ้นมาใช้งานและมีภาพเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียไปทั่วโลก เช่น นักร้องไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก อย่างลิซ่า ลลิษา มโนบาล และนักกีฬายกน้ำหนักไทยที่สูดยาดมก่อนขึ้นไปแข่งขันในกีฬาระดับโอลิมปิกก่อนคว้าเหรียญเงินมาได้จนภาพกลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์และเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่สมุนไพรไทยจะกลายเป็น Soft Power สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ไม่ยาก” นางอรมนกล่าว
ปัจจุบันประเทศไทยมีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจสมุนไพรจำนวน 18,342 ราย ทุนจดทะเบียน 147,580.84 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มขายปลีก ขายส่ง 15,060 ราย ทุนจดทะเบียน 124,792.36 ล้านบาท กลุ่มผลิต แปรรูป 1,778 ราย ทุนจดทะเบียน 16,523.04 ล้านบาท และกลุ่มเพาะปลูก 1,504 ราย ทุนจดทะเบียน 6,265.44 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก S 17,224 ราย ขนาดกลาง M 806 ราย และขนาดใหญ่ L 312 ราย จะเห็นได้ว่าธุรกิจขนาดเล็กเป็นผู้เล่นที่มีโอกาสในตลาดสมุนไพรมากที่สุด สามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดในครอบครัวมาแปรเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมสร้างอาชีพได้ ซึ่งประเทศไทยมีสมุนไพรหลากหลายชนิดที่สามารถเพาะปลูกได้ในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตควบคุมและลดต้นทุนการผลิตได้ รวมถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบทางการตลาด
สำหรับภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจสมุนไพรในปี 2566 สร้างรายได้ 872,466.83 ล้านบาท กำไร 27,497.70 ล้านบาท โดยกลุ่มขายปลีก ขายส่ง เป็นกลุ่มที่ทำรายได้และกำไรสูงที่สุด
ด้านนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนธุรกิจสมุนไพรในประเทศไทย มีมูลค่าการลงทุน 38,707.25 ล้านบาท เป็นการลงทุนในกลุ่มขายปลีก ขายส่งมากที่สุด มูลค่าการลงทุน 34,042.05 ล้านบาท โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจสมุนไพรสูงสุด 3 อันดับ คือ สหรัฐฯ เงินลงทุน 11,809.12 ล้านบาท ญี่ปุ่น 5,082.04 ล้านบาท และสิงคโปร์ 3,274.73 ล้านบาท
นางอรมนกล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นฝ่ายเลขานุการ มีแผนปฏิบัติการที่มีเป้าหมายสร้างภาพลักษณ์และส่งเสริมการตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตลอดจนขยายตลาดเชิงรุกทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งกรมได้นำผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร จำนวน 20 ราย เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-ANUGA ASIA 2024 ในช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา สามารถเจรจาจับคู่ธุรกิจ 1,024 คู่ และสร้างมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 194.280 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการเจรจามากที่สุด ได้แก่ ขิงแปรรูป ผักอบกรอบ น้ำนมงาดำ ไข่ผำ และดาวเรืองอบแห้ง ตามลำดับ
นอกจากนี้ ได้ดำเนินการเชื่อมโยงและสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ณ จังหวัดน่าน เมืองสมุนไพร ลำดับที่ 16 เป็นการพัฒนาทักษะด้านการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร “Uplift Marketing Skills : ต่อยอดตลาด สร้างโอกาสเมืองสมุนไพร” พร้อมสร้างการรับรู้เผยแพร่เรื่องราวสมุนไพรในจังหวัดน่าน “กระซิบรัก ฮักสมุนไพร”เมื่อกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ณ ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน จังหวัดน่าน