xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”ระดมสมองรัฐ-เอกชน 40 หน่วยงาน ทำแผนขับเคลื่อนธุรกิจบริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • 1. •*สนค.จัดประชุมรับฟังความเห็น เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการค้าธุรกิจบริการ
  • 2. •*มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 40 หน่วยงานเข้าร่วม
  • 3. •*4 ประเด็นหลักที่ใช้ขับเคลื่อน คือ:
  • • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
  • • การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน
  • • การพัฒนาคน
  • • การส่งออกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน


สนค.จัดประชุมรับฟังความเห็นจัดทำแผนปฏิบัติการ เรื่อง การค้าธุรกิจบริการ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 40 หน่วยงาน เคาะ 4 ประเด็นที่จะใช้ในการขับเคลื่อน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาปัจจัยสนับสนุน การพัฒนาคน การส่งออกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เตรียมรวบรวมข้อคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนเสนอต่อสาธารณชน กลาง ก.ย.นี้ จากนั้นเสนอสภาพัฒน์ และ ครม. พิจารณา ก่อนใช้เป็นแผนขับเคลื่อนต่อไป

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นแผนปฏิบัติการเรื่องการค้าธุรกิจบริการ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ประเด็น ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการค้าแห่งชาติ พ.ศ.2568–2570 โดยการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาครัฐและภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องกว่า 40 หน่วยงาน และได้มีมติเห็นชอบ 4 ประเด็นการพัฒนาสำคัญในการขับเคลื่อนภาคบริการของไทย

โดย 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจบริการ โดยการพัฒนาและส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมและดิจิทัลที่มีคุณภาพสูง และการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมและการเข้าถึงแหล่งทุนที่เพียงพอ เพื่อการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและดำเนินธุรกิจบริการ 2.การพัฒนาการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนเพื่อส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจบริการ อาทิ การทบทวนกฎระเบียบเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการ การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศที่ช่วยในการพัฒนาและดำเนินธุรกิจบริการ 3.การพัฒนาคนในการขับเคลื่อนภาคบริการแห่งอนาคต ทั้งการพัฒนาทักษะของผู้ประกอบการและแรงงานในภาคบริการให้มีสมรรถนะสูงและเพียงพอต่อความต้องการของการดำเนินธุรกิจ และ 4.การส่งออกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจบริการ โดยการส่งเสริมการส่งออกบริการให้มากขึ้นผ่านกลไกต่าง ๆ และเพิ่มศักยภาพและผลิตภาพภาคบริการของไทยให้สูงขึ้น รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือภายในประเทศ ระหว่างสาขา และระหว่างประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพในการพัฒนาและส่งเสริมภาคบริการไทย

“การประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างแผนปฏิบัติการเรื่องการค้าธุรกิจบริการในครั้งนี้ โดย สนค. จะนำข้อมูล ความเห็น ประเด็น และแนวทางการพัฒนาที่ได้รับจากผู้เข้าร่วมการประชุม ไปใช้ประโยชน์ในการทบทวนและปรับปรุงแผนปฏิบัติการให้มีความสมบูรณ์ ครอบคลุม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด และเมื่อได้แผนแล้ว จะนำเสนอแผนต่อสาธารณชน ในช่วงกลางเดือน ก.ย.2567 และมีกำหนดที่จะนำแผนดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และคณะรัฐมนตรี ตามขั้นตอนต่อไป เพื่อให้ไทยมีแผนที่กำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าของประเทศ และสามารถบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศอย่างมีเป้าหมายเดียวกัน"นายพูนพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ ภาคบริการ เป็นภาคส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย โดยภาคบริการมีสัดส่วนสูงที่สุดใน GDP และมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 50 ของ GDP มาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2566 ภาคบริการมีมูลค่า 10.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61 ของ GDP ของไทย และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.26 เมื่อเทียบกับปี 2565

สำหรับเป้าหมายของการจัดทำแผนปฏิบัติการเรื่อง การค้าธุรกิจบริการ ต้องการช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคบริการไทยที่จะต้องเผชิญกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มใหม่ ๆ ที่จะส่งผลต่อศักยภาพของภาคบริการไทยในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนภาคบริการของไทยอย่างเป็นระบบ และใช้เป็นแนวทางให้ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินงานร่วมกันและเพิ่มประสิทธิภาพสร้างความเข้มแข็งของภาคบริการไทย

โดยแผนการค้าธุรกิจบริการ มีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะช่วยถ่ายทอดเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการให้สัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายพัฒนาภาคบริการของไทยให้เกิดอัตราการขยายตัวของมูลค่าธุรกิจบริการเพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ดัชนีข้อจำกัดทางการค้าบริการ (Services Trade Restrictiveness Index: STRI) ของภาคบริการ มีคะแนนลดลงไม่น้อยกว่า 0.03 ภายในปี 2570 และมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกธุรกิจบริการไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี


กำลังโหลดความคิดเห็น