xs
xsm
sm
md
lg

ยกระดับถนน!ทล.จดทะเบียนองค์กรกำหนดมาตรฐาน (SDOs) นำร่อง 4 สาขา”ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ยาง”เพิ่มคุณภาพความปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • - กรมทางหลวง จดทะเบียนเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐาน (SDOs) กับ สมอ.
  • - นำร่องผลักดัน 4 สาขา:
  • - ผลิตภัณฑ์คอนกรีต
  • - ผลิตภัณฑ์ยาง
  • - การจัดการสิ่งแวดล้อม
  • - เป้าหมาย: ยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยทางหลวงยั่งยืน
  • - กรมทางหลวงมีแผนผลักดัน 10 สาขา


กรมทางหลวง จดทะเบียนเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐาน (SDOs) กับ สมอ. นำร่องผลักดัน 4 สาขา “ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ผลิตภัณฑ์ยาง และการจัดการสิ่งแวดล้อม” จากทั้งหมด 10 สาขา เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยทางหลวงยั่งยืน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยภายหลังรับมอบใบจัดตั้งองค์กรกำกับมาตรฐาน (SDOs) กับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ว่า ปัจจุบันกรมทางหลวงให้ความสำคัญทั้งการออกแบบ การก่อสร้าง และการบำรุงรักษา พร้อมทั้งเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนามาตรฐานที่สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะด้านงานทาง ซึ่งมาตรฐานที่กำหนดขึ้นจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กรมทางหลวง โดยสำนักมาตรฐานและประเมินผล จึงได้จดทะเบียนเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐาน (SDOs) กับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โปร่งใส เป็นไปตามหลักวิชาการสากล และยกระดับคุณภาพทางหลวงไปอีกขั้น

โดยการเข้าร่วมเป็นองค์กรกำกับมาตรฐาน (SDOs) จะทำให้มีการยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ที่มีองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ช่วยให้กรมทางหลวงสามารถนำมาตรฐานที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมาปรับใช้ในการออกแบบก่อสร้าง และบำรุงรักษาถนน ให้มีคุณภาพสูง ปลอดภัยและยั่งยืน


ทั้งนี้ กรมทางหลวงได้รับใบจัดตั้งองค์กรกำหนดมาตรฐาน (SDOs) จะช่วยให้กรมทางหลวงพัฒนามาตรฐานที่เหมาะสม ประกอบด้วย 5 หัวข้อ ได้แก่ 1.การพัฒนามาตรฐานที่ตรงกับความต้องการเฉพาะทาง กรมทางหลวงสามารถพัฒนามาตรฐานได้เองและปรับปรุงให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีแนวทางใหม่ๆ 2.การยกระดับคุณภาพและความปลอดภัย การดำเนินงานของกรมทางหลวงจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้มาตรฐานที่ล้าสมัย

3.การสร้างความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส การสร้างความน่าเชื่อถือให้กับมาตรฐานที่กรมทางหลวงกำหนดขึ้น โดยจะได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ 4.การเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสียจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ผู้รับเหมา นักวิชาการ ผู้ผลิตวัสดุ หรือ ประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการกำหนดมาตรฐาน 5.การปรับปรุงและทบทวนมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง การปรับปรุงและทบทวนมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสถานการณ์ใหม่ ๆ

นายสราวุธกล่าวว่า การจัดตั้งองค์กรกำหนดมาตรฐานแห่งกรมทางหลวงจะเป็นจุดเริ่มต้นของความก้าวหน้าในอนาคตต่อไป เพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยเป็นไปอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพสูงสุด โดยมาตรฐานมอก.ที่ดำเนินการจะเสนอผ่านคณะกรรมการวิชาการของกรมทางหลวง โดยมีเป้าหมายระยะแรก ดำเนินการมาตรฐานที่กรมทางหลวงจดทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้ว จำนวน 4 สาขา ได้แก่ สาขาผลิตภัณฑ์คอนกรีต สาขายางแลผลิตภัณฑ์ยาง สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม และสาขาการจัดการระบบชีวอนามัยและความปลอดภัย จากเป้าหมายทั้งหมด 10 สาขา ซึ่งจะครอบคลุมกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภารกิจของกรมทางหลวงเกือบทั้งหมด


กำลังโหลดความคิดเห็น