- • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจสอบนอมินีเหลือ 165 ราย จาก 498 ราย ใน 4 กลุ่มธุรกิจ 6 จังหวัด
- • เตรียมตรวจสอบเชิงลึก หากพบผิดส่งต่อดีเอสไอ
- • เพิ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงในการตรวจสอบ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแจ้งความคืบหน้าการตรวจสอบนอมินี ล่าสุดคัดบริษัทที่มีความเสี่ยงเหลือเพียง 165 ราย จาก 498 ราย ใน 4 กลุ่มธุรกิจ จาก 6 จังหวัด เตรียมลุยตรวจสอบเชิงลึก หากพบผิดส่งต่อดีเอสไอจัดการ เผยยังได้เพิ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงใหม่ ค้าปลีกค้าส่ง คลังสินค้า ก่อสร้างและวิศวกรรม การขนส่ง โลจิสติกส์ และค้าเหล็ก หลังพบเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเป็นนอมินี และได้ข้อมูลจากภาคเอกชน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี หรือการให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ว่า ในปี 2567 กรมได้มีเป้าหมายตรวจสอบนิติบุคคลจำนวน 20,019 ราย ใน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร นำเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าที่ดิน ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต และธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ โดยได้ตรวจสอบ คัดกรองแล้ว พบว่า มีแนวโน้มที่จะเป็นนอมินี 498 ราย และได้ตรวจเชิงลึก ลงพื้นที่ไปตรวจสอบที่ตั้ง งบการเงิน ไม่พบผิดปกติ 333 ราย และพบมีความเสี่ยง 165 ราย ซึ่งกำลังตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ตรวจสอบเชิงลึกมากขึ้น และให้บริษัททำหนังสือชี้แจง รวมทั้งได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อตรวจสอบด้วย
“กรมกำลังตรวจสอบเชิงลึก สำหรับรายที่มีความเสี่ยง โดยจะตรวจอย่างรอบด้าน ตรวจเชิงลึก และทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร หากผลการตรวจสอบ พบว่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นนอมินี ก็จะส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปดำเนินการต่อ”
ทั้งนี้ กรมยังได้เพิ่มจำนวนธุรกิจที่มีความเสี่ยงเป็นนอมินีอีกหลายธุรกิจ ที่จะต้องเข้าไปตรวจสอบ หลังจากได้รับการแต่งตั้งจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นฝ่ายเลขานุการของศูนย์เฉพาะกิจปราบปรามสินค้าไร้คุณภาพไร้มาตรฐาน ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ดูแลสินค้านำเข้าที่ไม่มีคุณภาพและไม่มีมาตรฐาน เพื่อดูแลผู้บริโภคและผู้ประกอบการ SME ของไทย ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจคลังสินค้า ธุรกิจก่อสร้างและวิศวกรรม
ขณะเดียวกัน จะตรวจสอบธุรกิจที่ภาคเอกชนหรือสมาคมการค้า เห็นว่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นนอมินี อาทิ การขนส่ง โลจิสติกส์ และค้าเหล็ก เป็นต้น โดยได้รับข้อมูลว่าธุรกิจเหล่านี้ ปัจจุบันมีคนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในการตรวจสอบ และหลายกรณีได้ส่งต่อให้ดีเอสไอ เพื่อตรวจสอบเชิงลึกต่อแล้ว