เป็นที่หวาดกลัวสำหรับผู้ประกอบการ SME เมื่อการเข้ามาของ TEMU แพลตฟอร์มออนไลน์ สัญชาติจีน ที่เข้ามาทำตลาดในไทย โดยส่งตรงสินค้าจากโรงงานจีน ที่ราคาถูก มีให้เลือกหลากหลาย เข้าสู่ตลาด จนถูกอกถูกใจผู้บริโภค แต่ SME ที่ผลิตสินค้าแบบเดียวกัน กระอัก จนอยู่ไม่ได้ ประสบปัญหาการขาดทุน และทยอยปิดตัว ปิดโรงงานกันมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกาคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นั่งไม่ติด ต้องเร่งหามาตรการรับมือ ก่อนที่จะสายเกินไป
ทั้งนี้ TEMU ใช้กลยุทธ์การตลาดที่โดนใจผู้บริโภค โดยหากผู้บริโภคซื้อสินค้าไปแล้ว หากไม่พอใจ ก็จะคืนเงินครึ่งหนึ่ง หากเกิดความผิดพลาดสำหรับสินค้าที่ส่งมา หรือผู้บริโภคไม่พอใจในสินค้า แล้วผู้บริโภคไม่ต้องส่งคืนสินค้านั้น ๆ กลับคืน หรือใช้กลยุทธ์สะสมแต้ม เพื่อใช้เป็นเงินสดในการซื้อสินค้า ทำให้ผู้บริโภคได้สินค้าแบบฟรี ๆ จนแพลตฟอร์มขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง
จากการทำธุรกิจดังกล่าว แม้จะเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค แต่ในมุมมองผู้ประกอบการ SME ไม่โอเคกับการใช้กลยุทธ์การตลาดแบบนี้ เพราะกระทบการจำหน่ายสินค้า กระทบยอดขาย จนยอดขายหดหาย กระทบต่อการทำธุรกิจ การจ้างงาน และในที่สุด ต้องปิดตัวลงไป
ครึ่งปีโรงงานปิดตัว 667 แห่ง
ข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม รายงานว่า ในช่วง 6 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) มีการแจ้งเลิกทะเบียนโรงงาน 667 แห่ง ทุนจดทะเบียน 18,091 ล้านบาท กระทบการจ้างงาน 17,674 คน โดยสูงกว่าช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ช่วง 6 เดือนของปี 2564 มีการแจ้งปิดโรงงานเพียง 373 แห่ง ทุนจดทะเบียน 22,825 ล้านบาท กระทบการจ้างงาน 10,175 คน
โดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า จากการดูตัวเลข และหารเฉลี่ยต่อเดือน ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีการปิดโรงงานเฉลี่ยเดือนละ 111 แห่ง และเป็นที่น่าสังเกต คือ โรงงานที่ปิดในช่วง 6 เดือนของปี 2567 เป็นโรงงานขนาดเล็ก โดยช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โรงงานที่ปิดส่วนใหญ่เป็น SME ที่ขนาดกลางและใหญ่ แต่มาปีนี้ เป็นขนาดเล็ก เป็นการปิดต่อเนื่องของพวกซัปพลายเชน จึงอยากให้ภาครัฐ เข้ามาช่วยดูแล และช่วยเหลือ ก่อนที่จะมีปัญหาไปมากกว่านี้ โรงงานปิดมากกว่านี้ คนตกงานมากกว่านี้
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบ มาจากพิษเศรษฐกิจ ที่ไม่ดีต่อเนื่อง กำลังซื้อลด หนี้ครัวเรือนสูง และโดนสินค้าจากจีนเข้ามาตีตลาด ทำให้โรงงาน SME ต่าง ๆ มียอดขายลดลง และสู้ไม่ได้
เปิดโพยสินค้าจีนตีตลาด
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ซึ่งเป็นหนึ่งองค์กรที่ได้รับเรื่องปัญหาทุนจีนเข้ามารุกตลาดในไทย จากสมาชิกและผู้ประกอบการต่าง ๆ ได้รวบรวมสินค้าจากจีนที่ทะลักเข้ามาไทย ทั้งช่องทางปกติ และผ่านช่องทางออนไลน์ 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1 เครื่องใช้ไฟฟ้า สัดส่วนมูลค่า 43.3% จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนในช่วง 6 เดือนของปี 2567 ที่มีมูลค่า 37,569.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 2 ผักผลไม้สดและปรุงแต่ง สัดส่วนมูลค่า 10.0% อันดับ 3 เสื้อผ้าและรองเท้า สัดส่วนมูลค่า 9.3% อันดับ 4 เครื่องใช้ในบ้านและของตกแต่ง 9.1% อันดับ 5 ของใช้ในครัวและโต๊ะอาหาร 9.0%
โดยสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้มีข้อเสนอถึงกระทรวงพาณิชย์ ในการแก้ปัญหาสินค้าจีนทะลัก โดยเสนอให้เจรจาทบทวนอัตราภาษีนำเข้ารายกลุ่มสินค้าที่ไทยเสียเปรียบ บังคับใช้กฎหมายการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจการค้ากับนักธุรกิจจีนหรือนอมินีให้ทำการค้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สกัดการลักลอบนำเข้าสินค้าจากจีนที่ผิดกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษี อย่างจริงจัง และควรส่งเสริม SME ในการสร้างนวัตกรรมและแบรนด์ เจาะตลาดออนไลน์จีน ไม่ใช่ให้จีนเจาะอย่างเดียว
“พาณิชย์”ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เมื่อปัญหาเริ่มลุกลามบานปลาย กระทรวงพาณิชย์ โดยนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทุกกรมในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ , กรมศุลกากร กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง , กระทรวงสาธารณสุข , กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) , สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) , กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) , สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มาหารือเพื่อหาทางแก้ปัญหาเร่งด่วนตามที่ภาคเอกชนได้ขอให้ภาครัฐช่วยเหลือกรณีมีการนำเข้าสินค้าราคาถูกเข้ามาจำหน่ายในไทย ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ จนกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศและผู้บริโภค
ผลสรุปที่ได้ มี 2 แนวทาง คือ การขายออฟไลน์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะลงพื้นที่ตรวจสอบว่าสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ ที่วางขายในไทย ทำถูกต้องตามกฎหมายไทยหรือไม่ โดยเบื้องต้น พบว่า ร้านค้าในแหล่งที่มีคนต่างชาติอยู่มาก คนขายไม่ใช่คนไทย ไม่มีวีซ่าเข้าประเทศ ไม่มีใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ หรือจดทะเบียนนิติบุคคล รวมทั้งจะตรวจสอบว่าสินค้านำเข้ามีคุณภาพ มาตรฐาน และไม่เป็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่
ส่วนการจำหน่ายทางออนไลน์ ได้ขอความร่วมมือกรมศุลกากร จัดส่งสินค้า 10 อันดับแรก ที่นำเข้าจากต่างประเทศสูงสุดผ่านการซื้อทางออนไลน์ เพื่อตรวจสอบดูว่าสินค้านั้น เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ หรือเป็นสินค้าทดแทน หรือเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องนำเข้า รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูว่าแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ที่ให้บริการซื้อขายผ่านทางออนไลน์ในไทย กฎหมายไทยจะดำเนินการใด ๆ ได้บ้าง เช่น กำหนดให้ต้องตั้งสำนักงานตัวแทนในไทย หรือต้องจดแจ้งใด ๆ หรือไม่ ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) แจ้งว่า ภายใต้พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล พ.ศ.2565 มาตรา 18 (2) และ (3) กำหนดให้แพลตฟอร์มดิจิทัล ที่แม้ไม่ได้ตั้งอยู่ในไทย แต่มีลูกค้าในไทย หรือมีความเสี่ยงต่อการเงิน การพาณิชย์ หรืออาจกระทบ หรืออาจเกิดความเสียหายต่อสาธารณะชน ต้องมาจดแจ้งข้อมูลกับ ETDA ด้วย รวมทั้งจะพิจารณาดูว่าจะมีมาตรการอะไรมาดำเนินการเพิ่มเติมได้อีก นอกเหนือจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้านำเข้าที่ซื้อผ่านทางออกไลน์ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท เริ่มตั้งแต่บาทแรก ที่คลังได้จัดเก็บไปแล้ว
เจาะลึกคุยเป็นรายอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชน จำนวน 30 กลุ่มธุรกิจของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมต่าง ๆ เช่น พลาสติก เครื่องนุ่งห่ม ของขวัญของชำร่วย เครื่องเขียนและเครื่องใช้สำนักงาน เครื่องปรับอากาศ เหล็ก เครื่องจักรกลและโลหะการ เซรามิก แกรนิตและหินอ่อน เครื่องสำอาง อาหารเสริม เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น เพื่อรับฟังสถานการณ์การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และสถานการณ์การแข่งขันทางการค้าระหว่างสินค้า SME ไทยกับสินค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ไขปัญหาการแข่งขันทางการค้าของสินค้าในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในด้านคุณภาพและราคา
การประชุมครั้งนี้ SME ได้เสนอข้อมูลปัญหาและผลกระทบในภาพรวม ที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงภาคบริการและการลงทุน ปัญหาด้านมาตรฐานสินค้าคุณภาพต่ำและราคาถูก การลักลอบนำเข้าสินค้าทางชายแดน การสำแดงพิกัดสินค้าที่เป็นเท็จ รวมถึงการเข้ามาตั้งธุรกิจบริการและภาคการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยและผู้บริโภคชาวไทย และให้ข้อเสนอแนะการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของสินค้านำเข้า การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศ การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทยด้านการผลิตและศักยภาพการประกอบธุรกิจ เพื่อให้สินค้าและธุรกิจไทยรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ การปรับปรุงกฎหมาย รวมถึงความตกลงต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าไทย
ชง ครม. ตั้งคณะกรรมการดูแล
ต่อมา กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาจัดตั้ง “คณะกรรมการสร้างสมดุลการค้าระหว่างประเทศ” โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อดูแลการสร้างแนวทางการค้าที่เป็นธรรม เสมอภาค สมดุล เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้
ครม. กำหนดระยะเวลาให้คณะกรรมการชุดนี้ ทำงานร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการหามาตรการป้องกันและปราบปรามธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย ทั้งการตรวจสอบจดทะเบียนธุรกิจการค้า และใบอนุญาตต่าง ๆ การตรวจสอบใบอนุญาตการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการชำระอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ เพื่อหาทางสนับสนุนและพัฒนาให้ผู้ประกอบการ SME ไทยสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในตลาดสินค้าออฟไลน์และออนไลน์ โดยต้องมีมาตรการออกมาภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้
28หน่วยงานผนึกกำลังช่วย
หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนเป็นรายอุตสาหกรรม และได้ข้อมูลทั้งประเด็นปัญหา ข้อเสนอแนะ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จึงได้เชิญประชุมกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 28 หน่วยงาน เพื่อพิจารณาแก้ปัญหาการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำจากต่างประเทศ ที่กระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 28 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา
นายภูมิธรรมกล่าวว่า การหารือในครั้งนี้ เป็นการติดตามการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ ตามมติ ครม.ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการ แนวทางในการแก้ไขปัญหาและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ผลิตและผู้ประกอบการในทุกมิติ เช่น ตรวจสอบความถูกต้องของการจดทะเบียนการค้าและใบอนุญาตต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจของต่างชาติ ตรวจสอบคุณภาพสินค้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานได้รับการรับรองจากหน่วยงานของไทย ตรวจสอบใบอนุญาตนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการชำระอากรขาเข้าของผู้ประกอบการต่างชาติ และตรวจสอบความถูกต้องของการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ควบคู่ไปกับการสร้างภูมิคุ้มกันและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย
ทั้งนี้ ได้ข้อสรุปร่วมกันสำหรับมาตรการที่หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการ 5 มาตรการหลัก แยกเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที และมาตรการยั่งยืน รวม 63 มาตรการย่อย ดังนี้
1.ให้หน่วยงานบังคับใช้ระเบียบ กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยบูรณาการตรวจเข้มสินค้า ณ ด่านศุลกากร ทั้งในส่วนของการสำแดงพิกัดสินค้า การชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม การตรวจมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า (Full Container Load) เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบของ Cyber Team ตรวจสอบสินค้ามาตรฐานจำหน่ายออนไลน์ในส่วนการประกอบธุรกิจ มีมาตรการเชิงรุกตรวจสอบผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย การป้องปรามการกระทำอันมีลักษณะเป็นนอมินี โดยให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นคนไทยต้องส่งเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงิน พร้อมกับการขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด
2.ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าอนาคต ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) อยู่ระหว่างจัดทำประกาศให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามกำหนด “ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยให้มีสำนักงานในไทย” พร้อมให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคไทย นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะเร่งเพิ่มจำนวนรายการสินค้าควบคุมภายใต้มาตรฐานบังคับ ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุดไปด้วยอีกทางหนึ่ง
3.มาตรการภาษี โดยกรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประมวลรัษฎากรสำหรับการกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ และแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่จำหน่ายสินค้าในไทย ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร ในขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศเตรียมการจัดอบรมให้ความรู้เชิงเทคนิคกับภาคเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ
4.มาตรการช่วยเหลือ SME ไทย โดยได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทุกหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมพัฒนาชุมชน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เป็นต้น เร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้า และการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SME ไทย เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคการค้าโลกใหม่ โดยเฉพาะการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถขยายการส่งออกผ่าน 9 แพลตฟอร์ม E-Commerce พันธมิตรในประเทศเป้าหมาย
5.สร้าง ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เพื่อส่งเสริมการค้าผ่านช่องทางตลาด E-Commerce ให้เป็นอีกช่องทางในการผลักดันสินค้าไทยผ่าน E-Commerce ไปตลาดต่างประเทศให้ผู้ประกอบการไทย รวมถึงส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในระดับภูมิภาค
ติดตามผลงานทุก 2 สัปดาห์
นายภูมิธรรมกล่าวว่า จากปัญหาความห่วงใยของพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยและผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม ที่มีความกังวลในสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามา ทั้งปัญหาไม่ได้มาตรฐานหรือผิดกฎหมาย ครม.ได้มอบหมายให้ตนเป็นประธานในการประชุมแก้ไขปัญหา และให้รายงาน ครม. ภายในสิ้นเดือน ส.ค. จึงได้มาประชุมร่วมกับ 28 หน่วยงาน และกำหนด 5 มาตรการ ในการดูแลผู้บริโภค ผู้ผลิตผู้ประกอบการไทยควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลระหว่างระเบียบการค้าโลก คำนึงถึงความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการต่อไป คือ จะต้องมีการรายงานผลที่ศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานทุกสัปดาห์ และจากนั้นจะประชุมร่วมกันทุก 2 สัปดาห์ ถ้ามีความจำเป็น ก็จะทำงานให้เข้มข้นขึ้น โดยใช้กฎหมายที่อยู่ แต่ไม่ใช่เป็นการกีดกันการค้า และคำนึงถึงความตกลงการค้าระหว่างประเทศ และหากจำเป็นก็จะพิจารณาปรับแก้กฎหมายที่แต่ละกระทรวงดูแล เพื่อนำมาบังคับใช้เพิ่มเติม
“เป้าหมายของเรา คือ สินค้าที่จะจำหน่ายในไทยต้องมีคุณภาพ ถูกกฎหมาย ไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีเป้าหมายเพื่อดูแลผู้บริโภค รักษาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมในประเทศ ให้แข่งขันได้”นายภูมิธรรมกล่าว