xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”เดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย ธุรกิจชา สินค้า ESG ผลิตภัณฑ์ชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าส่งเสริมธุรกิจรายย่อย ลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการ 3 กลุ่มธุรกิจ ที่ จ.เชียงราย ธุรกิจชา ธุรกิจ ESG และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และสิ่งที่อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือ เตรียมสรุป ก่อนทำแผนช่วยต่อไป

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อสำรวจเศรษฐกิจเมืองรอง พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และความต้องการของผู้ประกอบการชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อม รายย่อย ที่เป็นหน่วยเศรษฐกิจขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ โดยได้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจชา ธุรกิจ ESG และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อพูดคุย รับฟัง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการ และให้เข้าถึงและเข้าใจความต้องการของภาคธุรกิจในทุกมิติ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาและตอบโจทย์ความต้องการอย่างตรงจุด และใช้เป็นข้อมูลประกอบการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจจะได้รับการส่งเสริมพัฒนาบนทิศทางที่ถูกต้อง แต่ภาครัฐยังจะได้เรียนรู้เทคนิคการบริหารงานของแต่ละองค์กรที่มีรูปแบบและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย มาประยุกต์ใช้ในงานบริหารรัฐกิจเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ขั้นสูง เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่แม่นยำจะช่วยลดการสูญเสียโอกาสด้านต่าง ๆ และได้รับผลลัพธ์ที่คุ้มค่าของทั้ง 2 ฝ่าย

สำหรับธุรกิจแรกที่พบปะพูดคุย คือ ธุรกิจจำหน่ายชา บริษัท ชาฉุยฟง จำกัด เป็นแหล่งผลิตและแปรรูปชาชั้นดีแบบครบวงจร ตั้งอยู่ที่ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งการผลิตใบชาถือเป็นธุรกิจที่สำคัญของ จ.เชียงราย ชาฉุยฟง ประกอบกิจการในรูปแบบการเกษตรเชิงท่องเที่ยวและการเกษตรแปรรูป ในช่วงเริ่มแรก ไร่ชาฉุยฟง เป็นแหล่งปลูกชาและมีโรงงานผลิตใบชาเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ต่อมาได้นำแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเข้ามาผสมผสานในการประกอบธุรกิจ จึงได้ขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นในส่วนของร้านขายชาและคาเฟ่ รวมถึงการเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสบรรยากาศของไร่ชาอย่างใกล้ชิดได้ตลอดทั้งปี กระบวนการผลิตใบชาของชาฉุยฟง จะมีการคัดแยกคุณภาพของใบชาตามเกรด โดยเกรดเอจะเป็นยอดชาที่มีการใช้มือคนเก็บชาทั้งหมด และคัดเฉพาะยอดอ่อนเท่านั้น ส่วนเกรดบีจะมีราคาที่ถูกกว่า เพราะจะเป็นยอดชาที่ใช้เครื่องจักรในการเก็บชา และไร่ชาฉุยฟง ยังเป็นไร่ชาปลอดสารพิษ โดยต้องการให้รัฐสนับสนุนด้านการวิจัย และช่องทางการตลาด


ธุรกิจที่ 2 คือ ธุรกิจ ESG ห้างหุ้นส่วนจำกัด นายน์ช็อป เก้าเก้า ตั้งอยู่ที่ อ.เวียงชัย เป็นผู้ประกอบชุมชนแนว ESG ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะโดยเน้นนโยบาย Zero Waste รายแรกๆ ของ จ.เชียงราย และประเทศไทย โดยนำ BCG โมเดล มาประยุกต์ใช้ในกิจการเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการและเทคโนโลยีการผลิตที่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งเข้ากับแนวโน้มการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ในร้านเย็บด้วยมือและเป็นการเพ้นท์มือเกือบทั้งหมด ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เป็นวัสดุเหลือใช้ เช่น เศษผ้า เป็นต้น และยังมีงานศิลปะบนผืนผ้าใบที่ได้รับการออกแบบและสรรค์สร้างโดยศิลปินเชียงราย คุณ จุฑามณี อาจกล้า ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดดเด่น สวยงาม โดยส่วนใหญ่จะเป็นภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สถานที่สำคัญ และวัฒนธรรมเรื่องเล่า ของ จ.เชียงราย เช่น ภาพแมงสี่หูห้าตา พระธาตุดอยเขาควายแก้ว เป็นต้น ลูกจ้างในร้านส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัวจึงมีความเข้าใจและช่วยกันบริหารธุรกิจเป็นอย่างดี รวมถึงได้มีการช่วยเหลือคนในชุมชนให้มีงานทำ มีรายได้ โดยให้คนในชุมชนนำงานกลับไปทำที่บ้าน ลดปัญหาการเข้า-ออกของลูกจ้าง และการขาดแคลนแรงงาน ส่วนอุปสรรคการประกอบธุรกิจปัจจุบัน คือ การตลาดออนไลน์เนื่องจากมีการแข่งขันสูง และสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ คือ ช่วยขยายช่องทางการตลาดและกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ


ธุรกิจที่ 3 คือ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน บริษัท เวลคัม ทู เชียงราย จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.แม่สาย เป็นร้านจำหน่ายสินค้าของฝากของที่ระลึกที่ได้รวบรวมผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการชุมชนภายในจังหวัดเชียงรายมาจัดแสดงและจำหน่ายภายในร้าน เวลคัม ทู เชียงราย อ.แม่สาย และสาขาที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงราย ชั้น G สาขาศูนย์ผ้าปางห้า อ.แม่สาย จ.เชียงราย และสาขาศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ ชั้น M สุขุมวิท กรุงเทพ โดยสินค้าที่จำหน่ายเป็นงานฝีมือแบบเชียงรายแท้ ๆ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น สวยงาม ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์เชียงราย เช่น ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าทอเชียงราย ผ้าไหม งานหัตถกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย กระเป๋าของใช้ ของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น โดยผู้ประกอบการต้องการให้ช่วยพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด และช่วยขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ

“หลังจากที่ได้รับฟัง พูดคุยถึงรายละเอียด ปัญหา-อุปสรรคของผู้ประกอบการ รวมทั้ง ความต้องการได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐของทั้ง 3 ธุรกิจแล้ว กรมจะเร่งสรุปปัญหา-อุปสรรค ความต้องการของภาคธุรกิจ พร้อมจัดทำแผนพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจอย่างครบวงจร เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสามารถรับมือได้ทุกวิกฤต ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง โดยเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อร่วมกันผลักดันผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไป”นางอรมนกล่าว

ทั้งนี้ เชียงรายเป็นจังหวัดเมืองรองเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ต้องการส่งเสริมและยกระดับให้เป็นเมืองหลักที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการค้า การค้าชายแดน เนื่องจากมีองค์ประกอบและต้นทุนทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง โดยจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่ 31 ก.ค.2567 พบว่า จ.เชียงราย มีจำนวนนิติบุคคลและมูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่เป็นอันดับที่ 2 จาก 17 จังหวัดภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่ อันดับที่ 1) ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจอยู่จำนวนทั้งสิ้น 8,973 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 49,833.26 ล้านบาท ธุรกิจที่ประกอบกิจการใน จ.เชียงราย มีรายได้รวมระหว่างปี 2562 - 2566 อยู่ที่ 815,978.60 ล้านบาท และมีธุรกิจเลิกประกอบกิจการตั้งแต่ ปี 2563 - ปี 2567 (ม.ค. - ก.ค.) จำนวน 1,176 ราย ทุน 1,922.87 ล้านบาท โดยปี 2567 จ.เชียงราย มีจำนวนกิจการเลิกประกอบธุรกิจเป็นอันดับ 2 จาก 17 จังหวัดภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่ อันดับที่ 1) เช่นเดียวกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า เชียงรายเป็นจังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพสูง และพร้อมยกระดับให้เป็นเมืองหลักที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น