xs
xsm
sm
md
lg

“ ดีพร้อม”นำร่องปั้นผู้ประกอบการด้านEV

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ ดีพร้อม” ปั้นผู้ประกอบการด้าน EV ทั่วประเทศ หวังดึงเข้าสู่ซัพพลายเชน EV ทั้งระบบ

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ครบวงจรทั่วประเทศ เดินหน้านำร่องในภูมิภาคต่าง ๆ ประกอบด้วย ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามลำดับ เพื่อรองรับการเติบโตของรถ EV อย่างก้าวกระโดด หวังผู้ประกอบการไทยทุกระดับได้รับประโยชน์จากการเติบโตของรถ EV อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้บริโภคใช้รถ EV ได้อย่างราบรื่น คาดจะสร้างผู้ประกอบการด้าน EV ได้มากกว่า 360 ราย เกิดมูลค่าธุรกิจกว่า 27.5 ล้านบาท

นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี (EV) ได้เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของคนไทยมากขึ้น เห็นได้จากยอดการใช้รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ 100% หรือ BEV ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากสถิติของกรมขนส่งทางบก ระบุว่า ปี 2020 มียอดจดทะเบียนรถ BEV สะสมเพียง 5,685 คัน ในปี 2023 พุ่งทะลุไปถึง 131,856 คัน และล่าสุด ยอดสะสมรวมจนถึงเดือน ก.พ. ปี 2024 มีจำนวนเพิ่มเป็น 154,027 คัน มากกว่ายอดสะสมในปีก่อนทั้งปี คิดเป็น 20.5% ของยอดจดทะเบียนรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งหากรวมรถยนต์ที่ใช้ระบบไฟฟ้าประเภทปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) แล้วก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 4.25 แสนคัน


จากการขยายตัวของการใช้รถยนต์ EV ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว หากขาดระบบซัพพลายเชน และอีโคซิสเท็มที่ดีอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้รถยนต์ EV ทั่วทั้งประเทศ ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินการตามนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มและประสิทธิภาพกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน จึงได้ดำเนินกิจกรรม "สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV)” ทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย

โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้และจูงใจให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) เห็นความสำคัญของการปรับกลยุทธ์ธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต สู่โอกาสในการจัดตั้งหรือขยายธุรกิจ สร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน และยังเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจก ให้ก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค เพื่อโอกาสในการจับคู่ธุรกิจ หรือลงทุนร่วมกันต่อไป


สำหรับการจัดกิจกรรม "สร้างและพัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV)” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการอย่างดี มีผู้เข้าร่วมรวมทั้งสิ้น 455 ราย โดยเริ่มนำร่องจัดกิจกรรมที่ภาคใต้เป็นภูมิภาคแรก ระหว่างวันที่ 1 - 3 สิงหาคม 2567 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 97 คน

ภูมิภาคที่ 2 คือ ภาคกลาง ระหว่างวันที่ 6 - 8 สิงหาคม 2567 ณ อุทยานเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 158 คน ภูมิภาคที่ 3 คือ ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 13 – 15 สิงหาคม 2567 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม 80 คน และภูมิภาคที่ 4 คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 21 - 23 สิงหาคม 2567 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัดนครราชสีมา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 120 คน

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว มีหลักสูตร 3 วัน ประกอบไปด้วย “การเขียนโมเดลธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV)” ได้แก่ พฤติกรรมผู้บริโภคยุค AI, Mindset ผู้ประกอบการยุค AI, Workshop การสร้าง Prompt Engineering, การสร้าง BMC ด้วย AI เป็นต้น การติดตั้งและซ่อมบำรุงสถานีชาร์จ EV, การบริการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า, การเรียนรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยสำหรับช่าง EV, ประสบการณ์การซ่อมรถ EV และ Workshop การซ่อมแบตเตอรี่ไฟฟ้าและเครื่องมือต่าง ๆ เกี่ยวกับเครื่องยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยยกระดับอู่ซ่อมรถยนต์แบบเก่าได้ปรับตัวสู่ยุครถยนต์ EV และสร้างผู้ประกอบการด้านรถ EV เพิ่มขึ้นได้มากกว่า 360 ราย เกิดมูลค่าธุรกิจกว่า 27.5 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น