กทพ.เซ็นจ้าง'อิตาเลียนไทย'สร้างทางด่วนฉลองรัชส่วนต่อขยาย“ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา”1.86 หมื่นล้านบาท มั่นใจเทคโนโลยีและประสบการณ์ เสร็จเร็วกกว่ากำหนด 6 เดือนเปิดใช้ปลายปี 70 เอกชนเคลียร์ปัญหาการเงิน ปีนี้รับงานใหม่ ทางด่วน-รันเวย์อู่ตะเภา เติม backlog สิ้นปีมูลค่า 7 หมื่นล้าน
วันที่ 22 ส.ค.2567 นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ลงนามในสัญญาจ้างงานจ้างก่อสร้างโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) กับนายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ระยะทาง 16.21 กิโลเมตร มูลค่าสัญญา 18,699.93 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการให้บริการด้านการจราจรและขนส่ง ให้สอดคล้องกับการพัฒนาและการเจริญเติบโตของพื้นที่ตัวเมือง ที่มีแนวโน้มพัฒนาไปทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นโครงการเรือธงของกระทรวงคมนาคมที่ ใช้งบประมาณดำเนินการก่อสร้าง และสามารถประมูลลงนามสัญญาได้ตามแผน ซึ่งกทพ.ได้หารือกับ ITD ในการก่อสร้างเพื่อให้แล้วเสร็จและเปิดมให้บริการได้ในปลายปี 2570 ซึ่งจะเร็วกว่าแผนงานประมาณ 6 เดือน (แผนงานกำหนด เปิดให้บริการในเดือน มิ.ย.2571) คาดปริมาณจราจรเกือบ 40,000 คัน/วัน ค่าผ่านทางเริ่มต้น 20 บาท สูงสุด 45 บาท
สำหรับการส่งมอบพื้นที่นั้น ขณะนี้ต้องรอกระบวนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินก่อนซึ่ง ครม.เห็นชอบ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน แล้ว รอการประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน คาดจะเข้าเวนคืนได้ภายในปลายปีนี้ ซึ่งกทพ.มีความพร้อมและประสบการณ์เรื่องการเวนคืนที่ดิน มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหา ในส่วนของที่ดินหน่วยงานราชการ มีบริเวณถนนกาญจนาภิเษก ซึ่งจะมีการเจรากับกรมทางหลวง เพื่อจัดแผนก่อสร้างให้เหมาะสมเนื่องจากมอเตอร์เวย์มีปริมาณรถจำนวนมาก โดยจะเน้นทำงานช่วงกลางคืน รวมถึงหารือเทคนิคก่อสร้างกับ ITD เพื่อลดผลกระทบจราจรบนมอเตอร์เวย์ให้มากที่สุด หากได้ข้อสรุป จะเร่งจัดทำแผนก่อสร้างเพื่อเข้าพื้นที่ก่อสร้างให้เร็วที่สุด
@ITD เคลียร์ปัญหาการเงิน ปีนี้รับงานใหม่เติม backlog จบปีที่ 7 หมื่นล้าน
ด้านนายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย กล่าวว่า โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) เป็นทางพิเศษ ยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร โครงสร้างเป็นรูปแบบ Slab on Girder เป็นแบบเสาเดี่ยว ก่อสร้างบนระบบฐานราก ที่เป็นเสาเข็มเจาะขนาดใหญ่ ซึ่ง บริษัท อิตาเลียนไทยฯ มีประสบการณ์ ในการก่อสร้างทางยกระดับประเภทนี้มานาน จำนวนหลายโครงการต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ มีความพร้อมด้านบุคลากร ทั้งวิศวกรและทีมงานที่มีประสบการณ์และความชำนาญสูง และมีการจัดหา เครื่องจักรทันสมัยที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้าง บริษัทฯ ยังมี โรงงานผลิตชิ้นส่วนคอนกรีต ที่มีคุณภาพสูง สำหรับใช้งานก่อสร้าง บริษัทฯ จะยึดมั่นในมาตรฐานการทำงานให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพดี และมีความปลอดภัยสูงสุด จึงขอให้มั่นใจได้ว่า บริษัทฯ มีความพร้อม ในการทำงานทุกด้านที่จะทำงานให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ และเพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด
“บริษัทมีความชำนาญในเทคโนโลยีนี้ ซึ่งใช้ในการการก่อสร้าง ทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) โครงการทางด่วนพระราม3- ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ สัญญา 3 ซึ่งเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร จากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ซ้อนทับไปบนทางด่วนเดิม ซึ่งการทำงานเป็นไปด้วยดี ดังนั้นขอให้มั่นใจว่า บริษัทจะทำโครงการทางด่วนช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ได้สำเร็จตามเป้าหมาย ส่วนจะทำงานเสร็จเร็วขึ้น 6 เดือนขึ้นกับที่จะมีการส่งมอบพื้นที่ให้เร็วแค่ไหน”
นายสุเมธ ยืนยันกรณีที่บริษัท ประสบปัญหาสภาพคล่องเมื่อปลายปี 2566 ว่าที่ผ่านมา ได้มีการเจรจากับสถาบันการเงินเริ่มคลี่คลายแล้วและโครงการที่จะได้รับในปี 2567 ซึ่งเบื้องต้น 2 โครงการ คือทางด่วนช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา วงเงินประมาณ 18,660 ล้านบาท และ โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับ สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา วงเงินประมาณ วงเงิน 13,200 ล้านบาท นั้นได้รับการสนับสนุนทางการเงิน ไม่น่าห่วงใดๆและคาดการณ์ว่า จบปี 2567 จะมีปริมาณงานในมือ (backlog) ประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ปริมาณงานอาจไม่สูงมาก เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดโควิด และมีการเลือกตั้ง มีการเปลี่ยนรัฐบาลและมีขั้นตอนการทำงบประมาณประจำปี ต้องใช้เวลาดำเนินงานส่งผลให้งานใหญ่ของภาครัฐไม่ค่อยออกมา ซึ่งผู้ประกอบการทั้งอุตสาหกรรม มีปัญหาและได้รบผลกระทบทั้งหมด ซึ่งตอนนี้เห็นว่า ภาครัฐและเชื่อว่า รัฐบาลใหม่จะเห็นปัญหาและจะผลักดันโครงการใหม่ออกมาเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัว
ซึ่งโครงการที่บริษัทฯติดตามและสนใจเข้าร่วมประมูล แต่ต้องรอดูความชัดเจนนโยบายภาครัฐคาดที่จะมีการเปิดประมูลช่วงปลายปี 67-2568 กี่โครงการ ทั้งโครงการ รถไฟทางคู่เฟส 2 ,โครงการทางพิเศษ ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก หรือ N2 เดิม ,โครงการทางพิเศษกะทู้ – ป่าตอง จ.ภูเก็ต ,โครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง,ท่าอากาศยานสุวรรณภุมิ,ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนในปัจจุบันมีการปรับขึ้น เช่น ค่าแรง หากมีการปรับเป็น 400 บาทก็จะกระทบ เพราะมีสัดส่วนของต้นทุน 25-30% นอกจากนี้มี ค่าเหล็ก ซึ่งปีนี้ มีการปรับขึ้นลงแต่ผันผวนลดลงกว่าปีก่อน แต่ยังมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการต้นทุน ให้มีประสิทธิภาพ ดูแลใกล้ชิดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ยอมรับว่าปีที่ผ่านมาเป็นวิกฤติของบริษัท ซึ่งได้พูดคยกับสถาบันการเงินและพร้อมสนับสนุนบริษัท ซึ่งนอกจากสนับสนุนรายโครงการแล้ว มีการปล่อยกู้อีก 7,000-8,000 ล้านบาทให้บริษัทใช้สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการ