กรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พบปะกับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง “เห็ดตับเต่า” ช่วยผลักดันให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ของจังหวัด เหตุเป็นพืชที่อยู่คู่กับเมืองกรุงเก่ามาช้านาน มีลักษณะพิเศษ รสชาติอร่อย พร้อมพาเชฟบุ๊ค กูรูด้านอาหารไปช่วยคิดค้นสูตรอาหารทำจากเห็ดตับเต่า “ทาร์ตแกงคั่วเห็ดตับเต่าปลาย่าง” หวังให้เป็นเมนูขึ้นชื่อประจำถิ่นเสิร์ฟนักท่องเที่ยวต่อไป
น.ส.กนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมได้นำคณะลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 19-20 ส.ค. 2567 พบปะหารือกับเกษตร ผู้แปรรูป และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดตับเต่าคลองโพธิ์ องค์การบริหารส่วนตำบลสามเรือน เพื่อผลักดันเห็ดตับเต่าขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ของจังหวัด เนื่องจากกรมได้เล็งเห็นว่าเห็ดตับเต่าเป็นสินค้าที่มีอนาคต และน่าจับตาเป็นอย่างมากอีกรายการหนึ่ง โดยหลังจากนี้กรมจะให้คำปรึกษาเพิ่มเติมแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่า และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับเห็ดตับเต่า เป็นพืชที่อยู่คู่กับชาวกรุงเก่ามายาวนาน โดยมีหมวกเห็ดมนเป็นรูปกระทะคว่ำ ผิวมัน เนื้อเห็ดมีความแข็ง หนา และเหนียวแน่น ผิวสีน้ำตาลเข้มปนเหลืองอ่อน โคนก้านใหญ่ มีรสชาติดี พื้นที่ของจังหวัดเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง แร่ธาตุอุดมสมบูรณ์สภาพเป็นกรดจัดถึงกรดปานกลาง บางพื้นที่มีลักษณะเป็นป่าโสน เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเห็ดตับเต่า ปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่าในเชิงพาณิชย์ควบคู่กับการอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ทำให้ได้เห็ดตับเต่าที่มีคุณภาพ ปัจจุบันราคาเห็ดตับเต่าแห้งสูงถึง 3,500 บาทต่อกิโลกรัม ราคาเห็ดสดหน้าสวนสูงถึง 150 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมีปริมาณการผลิตกว่า 400,000 กิโลกรัมต่อปี มูลค่าการตลาดรวมกว่า 10 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ กรมได้นำเชฟบุ๊ค หรือนายบุญสมิทธิ์ พุกกะณะสุต ผู้ซึ่งเดินทางไปถึงแหล่งวัตถุดิบคุณภาพของท้องถิ่นต่างๆ มาแล้วทั่วประเทศ ร่วมปรุงเมนูอาหารที่ทำจากเห็ดตับเต่า คือ “ทาร์ตแกงคั่วเห็ดตับเต่าปลาย่าง” โดยสูตรอาหารนี้ จะส่งมอบให้แก่ชุมชน ทำเป็นเมนูประจำท้องถิ่น เพื่อเสิร์ฟความอร่อยของอาหารไทยให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศได้ลิ้มลอง นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับรายได้ให้กับชุมชนต่อไป
ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการยกระดับซอฟต์เพาเวอร์ของไทยให้เข้มแข็ง ซึ่งสินค้า GI เป็นหนึ่งในสินค้า ที่มีอัตลักษณ์และมีศักยภาพแข่งขันในเวทีโลก กรมจึงได้เร่งเดินหน้าส่งเสริมสินค้า GI ไทยในทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น และล่าสุดมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ทั่วประเทศ ทั้งในกลุ่มสินค้าประเภทอาหาร ผลผลิตทางการเกษตร และสิ่งของเครื่องใช้ รวม 206 สินค้า สร้างมูลค่ากว่า 71,000 ล้านบาทต่อปี