ส่องความสำเร็จโครงการ “ไทยเด็ด” โครงการดีๆ ที่คัดสรร “สินค้าดี มีทีเด็ด” จากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคทั่วไทย ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยและชุมชนให้มีรายได้ที่มั่นคงและยกระดับคุณภาพชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยให้ดีขึ้น ก้าวไปสู่การเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
เพราะเมืองไทยของเรายังมี “สินค้าดี สินค้าเด็ด” อีกมากมายที่อยู่ตามชุมชนต่างๆ แต่ยังขาด “ช่องทาง” ในการจำหน่ายที่เข้าถึงลูกค้าวงกว้าง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) จึงได้ริเริ่มโครงการ “ไทยเด็ด” ขึ้น โดยร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันในการยกระดับและส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการรายย่อยและชุมชนทั่วประเทศ
โดย OR ได้เปิดพื้นที่ในสถานีบริการพีทีที สเตชั่น กว่า 300 สาขาทั่วประเทศ สร้างร้าน “ไทยเด็ด” เพื่อเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าจากชุมชนในโครงการ “ไทยเด็ด” ถือเป็นการเปิดประตูสู่ตลาดใหญ่ ให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงสินค้าชุมชนเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น
ขณะเดียวกัน โครงการไทยเด็ดยังได้ตั้งเป้าขยายพื้นที่การบริการร้านสินค้าไทยเด็ดให้มีมากกว่า 350 สาขา และเพิ่มความหลากหลายของสินค้าให้ครบ 1,000 รายการ ตลอดจนสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดการพัฒนาคุณภาพในชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้นต่อไป สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ OR ที่ว่า “Empowering All toward Inclusive Growth” หรือ เติมเต็มโอกาสเพื่อทุกการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ OR ยังได้นำเสนอสินค้าจากโครงการไทยเด็ดไปวางจำหน่ายที่ร้านคาเฟ่ อเมซอน ลาลา เทอร์เรซ โตเกียว-เบย์ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้ลูกค้าชาวญี่ปุ่นได้ทดลองและเลือกซื้อสินค้า ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจระดับฐานรากเติบโตและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง OR SDG โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้าน “S” หรือ “Small” ที่มุ่งเน้นการให้โอกาสเพื่อคนตัวเล็ก และด้าน “D” หรือ “DIVERSIFIED” ที่มุ่งเน้นการสร้างโอกาสกับพันธมิตรเพื่อการเติบโตร่วมกันผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ของ OR เพื่อตอบโจทย์เป้าหมาย OR 2030 อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยข้อมูลโดย นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2561 ที่ OR และพันธมิตรได้ร่วมกันริเริ่มจัดตั้งโครงการไทยเด็ดเกิดขึ้นมา เพื่อสนับสนุนสินค้าดี สินค้าเด็ดทั่วไทย โครงการไทยเด็ดได้สร้างความสำเร็จและความภาคภูมิใจให้กับชุมชน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ด้วยการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตลอดจนมีมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาสินค้าในโครงการให้เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ และต่างประเทศต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จส่วนหนึ่งของโครงการที่เป็นสารตั้งต้นที่ดี คือสินค้าแต่ละอย่างที่เข้าร่วมโครงการไทยเด็ดล้วนทำมาจากวัตถุดิบชั้นดีและฝีมือการผลิตอันประณีตของคนในท้องถิ่น เบื้องหลังสินค้าแต่ละชิ้นคือเรื่องราวและความตั้งใจของผู้คน ผสานเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบเนื่องกันมายาวนาน เป็น “ทีเด็ด” ของสินค้าชุมชนที่โดนใจผู้บริโภค
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็มีตั้งแต่ขนมปั้นขลิบน้องหนึ่ง จ.พัทลุง ซึ่งมีรสชาติพิเศษทำจาก “ข้าวสังข์หยด” ที่เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของ จ.พัทลุง มาโม่ให้ละเอียดแล้วผสมลงในแป้ง ทำให้ได้ขนมปั้นขลิบที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง คือ มีวิตามินบี 1 และ 2 มีธาตุเหล็กและแคลเซียมสูง ถือเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ของจังหวัดพัทลุงอีกอย่างหนึ่ง
หลังจากเข้าร่วมโครงการไทยเด็ด ขนมปั้นขลิบน้องหนึ่งสามารถเพิ่มยอดขายจาก 25,000 บาท/เดือน เป็น 487,000 บาท/เดือน แถมยังมีการรับซื้อวัตถุดิบ เช่น ข้าว, ปลา, เห็ด ฯลฯ จากชาวบ้านเพิ่มจาก 12 ครัวเรือน (55,000 บาท/เดือน) เป็น 47 ครัวเรือน (225,000 บาท/เดือน) ขณะที่การจ้างงานก็เพิ่มจาก 12 คน เป็น 40 คน
เช่นเดียวกับ “เสือเคี้ยวนัว” ขนมขบเคี้ยวจาก จ.แม่ฮ่องสอน โดยบริษัท กุ๊บไต จำกัด ได้คัดเลือกถั่วลายเสือจากวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกถั่วลิสง บ้านน้ำบ่อสะเป่ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน นำมาคั่วเกลือตามแบบภูมิปัญญาท้องถิ่นแล้วเคลือบด้วยน้ำตาลผสมงา 3 ชนิด (งาขาว งาดำ งาม้อน) ทำให้ได้รสชาติผสมผสานความหวาน มัน และความเค็มอ่อน อย่างครบรส แถมเหมาะสำหรับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ
“เสือเคี้ยวนัว” เข้าร่วมโครงการไทยเด็ดเมื่อปี 2565 ปรากฏว่ามียอดขายเพิ่มจาก 50,000 บาท/เดือน เป็น 180,000 บาท/เดือน มีการรับซื้อวัตถุดิบ (ถั่วลายเสือดิบ) จากชุมชนเพิ่มขึ้นจาก 17 ครัวเรือน (35,000 บาท เป็น 53 ครัวเรือน (115,500 บาท/เดือน) นอกจากนั้นยังมีการจ้างงานในชุมชนเพิ่มขึ้นจาก 8 คน เป็น 23 คน เฉพาะปี 2566 ปีเดียวก็มีมูลค่ายอดขายสูงถึง 15.9 ล้านบาท
ขณะที่ความสำเร็จของ “ผัดไทยภูเขาไฟ บ้านครูกานต์ จ.บุรีรัมย์” ก็น่ากล่าวถึง ซึ่งหลายคนคงเคยชิมผัดไทยภูเขาไฟเจ้านี้มาแล้ว และรู้ว่าเส้นผัดไทยที่นำมาประกอบเมนู ทำมาจากข้าวออร์แกนิกที่ปลูกบนดินภูเขาไฟที่ดับแล้ว 6 ลูกในจังหวัดบุรีรัมย์ (เขาพนมรุ้ง, เขาอังคาร, เขาไปรบัด, เขาหลุบ, เขากระโดง, เขาคอก) ทำให้มีความเหนียวนุ่ม มีแร่ธาตุอาหารสูง ส่วนวัตถุดิบอื่นๆ เช่น หอม กระเทียม พริก ส้มซ่า น้ำตาลอ้อย ล้วนเป็นผลผลิตของชาวบ้านที่ปลูกบนดินภูเขาไฟ และน้ำซอสผัดไทยจะทำการเคี่ยวแบบพิธีกรรมโบราณที่เรียกว่า “แซนโฎนตา” (แซน-โดน-ตา) ทำให้รสชาติมีเอกลักษณ์จัดจ้านแบบไทยโบราณแท้ๆ
หลังจากเข้าร่วมโครงการไทยเด็ด “ผัดไทยภูเขาไฟ บ้านครูกานต์ จ.บุรีรัมย์” สร้างยอดขายเพิ่มขึ้นจาก 25,000 บาท/เดือน เป็น 680,000 บาท/เดือน มีการรับซื้อวัตถุดิบเพิ่มจาก 12 ครัวเรือน (55,000 บาท/เดือน) เป็น 54 ครัวเรือน (540,000 บาท/ครัวเรือน/เดือน) และมีการจ้างแรงงานจาก 12 คน เพิ่มขึ้นสูงถึง 120 คน
และสินค้าเด็ดๆ ในโครงการไทยเด็ดอีกหนึ่งเจ้าที่โดนใจหลายๆ คน นั่นก็คือ “ผ้าย้อมคราม บ้านคำประมง จ.สกลนคร” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าบ้านคำประมง โดยการนำฝ้ายซีกวงมาย้อมด้วยคราม โคลน และเปลือกไม้ เป็นการย้อมสีธรรมชาติ แล้วนำไปทอเป็นลวดลายต่าง ๆ ซึ่งหลังจากที่เข้าร่วมโครงการไทยเด็ด ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 300 บาท/เดือน/ครัวเรือน เป็น 15,000 บาท/เดือน/ครัวเรือน มีการจ้างแรงงานจาก 11 คน เป็น 18 คน ขณะที่ยอดขายปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของความสำเร็จที่เกิดขึ้นในโครงการไทยเด็ด เพราะยังมีสินค้าเด็ดๆ จากชุมชนอีกมากมายนับพันรายการในโครงการนี้ และได้รับผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของโครงการไทยเด็ด ไม่ได้วัดกันที่ยอดขายเพียงอย่างเดียว แต่ยังเห็นได้จากรายได้ที่มั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชน รอยยิ้มของคนตัวเล็กๆ เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อการเติบโตร่วมกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน
โครงการไทยเด็ดของ OR จึงนับเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงผู้ผลิตสินค้าชุมชนและผู้บริโภคเข้าหากัน การเดินหน้าโครงการไทยเด็ดอย่างต่อเนื่อง เป็นการสรรค์สร้างโอกาสให้คนไทยในระดับฐานรากได้มีความมั่นคงในอาชีพ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และร่วมสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป