xs
xsm
sm
md
lg

ล้มแผนต่อสัญญา "ดอนเมืองโทลล์เวย์" ทล.เผยศึกษาชี้ไม่คุ้มค่า 22 ธ.ค. 67 ตลอดสายจ่าย 130 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทางหลวงจบดรามาขยายสัมปทาน "ดอนเมืองโทลล์เวย์" แลกลดค่าผ่านทาง ผลศึกษาระบุไม่คุ้มค่าทุกมิติ เตรียมตัว 22 ธ.ค. 67 ช่วงดินแดง-ดอนเมืองเพิ่มจาก 80 บาทเป็น 90 บาท พร้อมหาทางเจรจาเพิ่มส่วนลดคูปองลดความเดือดร้อน ปชช. ลั่นหมดสัญญาปี 77 โอกาสลดค่าผ่านทางให้ถูกที่สุด

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า จากที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงศึกษาหาแนวทางในการปรับลดค่าผ่านทาง โครงการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ เพื่อลดภาระของประชาชนหลังบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ผู้รับสัมปทาน ประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2567 ตามสัญญาสัมปทานนั้น

กรมทางหลวงจึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2567 เพื่อศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ โดยนำตัวเลขที่เกี่ยวข้องมาประเมินในทุกมิติ ทั้งกรณีไม่ขึ้นค่าผ่านทาง, กรณีลดค่าผ่านทางลง หรือกรณีขึ้นราคาตามสัญญาว่าจะส่งผลต่อปริมาณจราจรที่ใช้เส้นทางอย่างไร รวมถึงควรจะขยายอายุสัญญาออกไปกี่ปี จึงจะเหมาะสมในการชดเชยเอกชน ซึ่งคณะทำงานฯได้สรุปผลการศึกษาเสนอมาที่ตนช่วงปลายเดือน ก.ค. 2567 และได้พิจารณาสรุปความเห็นว่าไม่ควรลดค่าผ่านทางแลกกับการขยายสัญญาออกไป เพราะตัวเลขที่ออกมาไม่คุ้มค่าในทุกกรณี พร้อมทั้งได้รายงานไปที่ กระทรวงคมนาคมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่ง รมว.คมนาคม ยังไม่ได้มีข้อสั่งการอะไรเพิ่มเติม

“ตอนที่กรมทางหลวงสรุปผลการศึกษาเป็นจังหวะพอดีกับที่สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทางหลวงเพื่อขอรับทราบข้อเท็จจริงกรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์ กรมฯ จึงได้ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวให้ทาง ป.ป.ช.ด้วย”


นายสราวุธกล่าวว่า ต้องขอบคุณสำนักเฝ้าระวัง ป.ป.ช.ที่สอบถามมา โดยที่ไม่ได้มีใครไปร้อง เป็นการเฝ้าระวังเพื่อความรอบคอบ เนื่องจากมีกระแส และมุมมองที่ไม่เห็นด้วยกับการขยายสัมปทาน จึงเห็นว่ามีประเด็นที่อาจจะมีความเสี่ยง ซึ่งเป็นจังหวะที่กรมฯ ศึกษาข้อมูลเสร็จพอดี ทั้งนี้ กรมทางหลวงยืนยันว่าเมื่อได้รับโจทย์จากกระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะทำงานศึกษาความเหมาะสม และพิจารณาแล้วว่าไม่คุ้มค่า ดังนั้นจึงยังไม่มีการเจรจากับเอกชนแต่อย่างใด

“แนวคิดของ รมว.คมนาคมคือให้กรมทางหลวงไปพิจารณาหากไม่ขึ้นราคาหรือลดราคาลงจะมีแนวทางอย่างไร กรณีขยายสัมปทานจะเป็นกี่ปีถึงจะเหมาะสมคุ้มค่า กรมฯ จึงนำมาศึกษาในทุกมิติ ประกอบกับทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์นั้นเป็นเส้นทางเลือกแก่ผู้ใช้รถ ส่วนถนนวิภาวดีรังสิตที่เป็นถนนหลัก และฟรี หากไม่ใช่ช่วงเวลาเร่งด่วน ตั้งแต่ช่วงดินแดง-อนุสรณ์สถาน การจราจรก็ไม่ได้ติดขัดมากนัก”

ดังนั้น ในเดือน ธ.ค. 2567 นี้จะมีการปรับค่าผ่านทางตามสัญญา ซึ่งเป็นการปรับในรอบระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม 2567 เวลา 00.01 น.-21 ธันวาคม 2572 โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทางช่วงดินแดง-ดอนเมือง จากปัจจุบัน 80 บาท ขึ้นเป็น 90 บาท และช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน จาก 35 บาท ขึ้นเป็น 40 บาท ซึ่งทางบริษัทฯ จะมีคูปองส่วนลดให้ผู้ใช้ทาง ซึ่งตรงนี้กรมทางหลวงก็อาจจะเจรจากับเอกชนเพื่อขอให้ส่วนลดเพิ่มอีก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน


@ปี 72 เริ่มศึกษารูปแบบบริหารตาม  พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

นายสราวุธกล่าวว่า แนวทางจากนี้เป็นการบริหารสัญญาสัมปทานตามปกติ โดยสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2577 ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของกรมทางหลวง ขณะที่ไม่มีการระบุในเงื่อนไขว่าก่อนหมดสัญญาเอกชนมีสิทธิ์ที่จะเสนอขอต่อสัญญาหรือกรมทางหลวงต้องเจรจากับทางบริษัทเป็นรายแรกใดๆ

ขณะที่ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กำหนดว่า ก่อนหมดสัญญา 5 ปีหน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการ ดังนั้น ประมาณปี 2572-2573 กรมทางหลวงจะศึกษาแนวทางในการดำเนินโครงการดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งต้องพิจารณาหลายเรื่อง เช่น โครงสร้างที่มีอายุการใช้งานมาหลายสิบปี ต้องมีการซ่อมบำรุงแค่ไหนอย่างไร อัตราค่าผ่านทางที่เหมาะสมและรายได้เป็นอย่างไร หลักการหากกรมทางหลวงดำเนินการเอง เป้าหมายรายได้คือเพียงพอในการดูแลซ่อมบำรุง ซึ่งอาจจะสามารถกำหนดอัตราค่าผ่านทางได้ต่ำ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด หรือกรณีมีนโยบายจากรัฐบาลต้องการให้ใช้ทางฟรีก็มีความเป็นไปได้ โดยสามารถพิจารณาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ซ่อมบำรุง อาทิ นำจากงบประมาณ 


กำลังโหลดความคิดเห็น