จากการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ทีผ่านมา ที่กรมชลประทาน โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานเรื่องน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแผนงานและโครงการที่สามารถเร่งรัดดำเนินการได้ภายในระยะเวลา 3 ปี ตลอดจนพิจารณาโครงการสำคัญระยะยาว และมอบหมายให้กรมชลประทานและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวง อว. ใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมและประเมินพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า เป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูฝนที่ GISTDA จะใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมและข้อมูลจากเซ็นเซอร์วัดปริมาณน้ำ ในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมทั้งประเทศ รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาดังกล่าว โดยร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก ได้แก่ สทนช. กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น สำหรับปีนี้ GISTDA ได้เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการด้วยข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 ร่วมกับข้อมูลจากดาวเทียมอื่นๆ ที่ GISTDA ใช้ติดตามสถานการณ์ พร้อมทั้งได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการติดตามและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ไปแล้วเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
โดยจากฐานข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 13 ปี (ตั้งแต่ปี 2554-2566) พบว่าพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากมักจะเป็นพื้นที่ราบลุ่มในลุ่มน้ำหลักของแต่ละภาค คิดเป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้นกว่า 35 ล้านไร่ โดยประมาณหรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม ในภาคเหนือ (4.5 ล้านไร่) ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและป่าสัก ในภากลาง (7.7 ล้านไร่) ลุ่มน้ำโขง ชี และมูล ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (14.9 ล้านไร่) ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำปราจีน ลุ่มน้ำโตนเลสาบ และลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ในภาคตะวันออก (3.2 ล้านไร่) ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำเพชรบุรี ในภาคตะวันตก (5.5 แสนไร่) และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบนและตอนล่าง และทะเลสาบสงขลา ในพื้นที่ภาคใต้ (3.9 ล้านไร่)
สำหรับการวิเคราะห์และติดตามพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมซ้ำซาก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงภัยอันจะเกิดขึ้นกับประชาชน และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก จะเป็นพื้นที่ที่มีการท่วมของน้ำบนพื้นผิวดินซ้ำๆ กัน จะเป็นพื้นที่ที่มีการท่วมขังของน้ำบนผิวดินสูงกว่าระดับปกติและมีระยะเวลาที่น้ำท่วมขังยาวนานอยู่เป็นประจำ น้ำท่วมซ้ำซากไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายเชิงกายภาพ ยังส่งผลกระทบต่อสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจอีกด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปให้กับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ทั้งในระดับผังประเทศ ผังภาค ผังอนุภาค ผังจังหวัด ผังเมืองรวม และผังเมืองเฉพาะ เพื่อบริหารจัดการเชิงพื้นที่ทั้งก่อนและหลังเกิดภัยน้ำท่วม และนำไปเป็นข้อมูลเพื่อบริหารจัดการน้ำภาพรวมของประเทศต่อไป ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว