xs
xsm
sm
md
lg

สศท.จัดทำสื่อ e-Learning เรียนออนไลน์ ส่งต่อความรู้นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สศท. จัดทำสื่อการเรียนรู้ e-Learning ผ่านทางออนไลน์ เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการ ผู้ที่สนใจงานศิลปหัตถกรรม ได้เข้ามาเรียนรู้ และนำไปปรับใช้ในการสร้างงานหัตถศิลป์ เผยมีหลักสูตรเข้ม ทั้งสิ่งทอพื้นบ้าน สีธรรมชาติในงานเครื่องทอ จักสานกลุ่มวัสดุไผ่ จักสานผักตบชวา ถอดรหัสการตลาดงานศิลปหัตถกรรมญี่ปุ่น

นางพรรณพิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. เปิดเผยว่า สศท. ได้ยกระดับการเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านหัตถศิลป์ไทย โดยจัดทำสื่อการเรียนรู้ หรือระบบการเรียนรู้แบบ e-Learning ผ่านทางออนไลน์ https://academy.sacit.or.th มีการบูรณาการความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยแฟชั่นแห่งประเทศไทย นักออกแบบ ตลอดจนผู้ประกอบการ เพื่อสร้างสรรค์หลักสูตรการเรียนรู้ที่เหมาะกับนิสิต นักศึกษา ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมไทยได้ด้วยตนเองทุกที่ ทุกเวลา เพื่อให้นำข้อมูลหรือความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในการพัฒนางานหัตถศิลป์ของไทยต่อไป

สำหรับหลักสูตร ประกอบด้วย 1.หลักสูตรงานหัตถกรรมสิ่งทอพื้นบ้านไทย (Traditional Thai Textile) นำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับสิ่งทอพื้นบ้านไทย พร้อมสาธิตกระบวนการทอผ้าพื้นบ้าน ได้แก่ การทอด้วยเทคนิคขิด จก ยกดอก มัดย้อม และเกาะล้วง

2.หลักสูตรสีธรรมชาติในงานเครื่องทอไทย (Natural Dye in Thai Textile) นำเสนอองค์ความรู้การกำหนดเทรนด์สีโลก กระบวนการย้อมสีธรรมชาติจากพืชพรรณธรรมชาติใกล้ตัว และเจาะลึกกระบวนการย้อมครามตั้งแต่ต้นจนจบ

3.หลักสูตรภูมิปัญญางานจักสานกลุ่มวัสดุไผ่ (Basketry: Bamboo) นำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับไผ่แต่ละประเภทการเตรียมไม้ไผ่ การออกแบบ และการต่อยอดสู่ระดับนานาชาติ

4.หลักสูตรภูมิปัญญางานจักสานกลุ่มวัสดุผักตบชวา (Water Hyacinth) นำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ผักตบชวาในมิติต่าง ๆ ทั้งบรรจุภัณฑ์ งานจักสานภายในประเทศ และการต่อยอดสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมถ่ายทอดกระบวนการจักสานผักตบชวาเพื่อการเรียนรู้วิธีการและลวดลายเบื้องต้น

5.หลักสูตรถอดรหัสการตลาดงานศิลปหัตถกรรมแบบญี่ปุ่น (Handicraft Marketing The Key to Japan’s Success) นำเสนอกลไลการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรม และการกำหนดมาตรฐานงานศิลปหัตถกรรมของญี่ปุ่น กระบวนการคิด วิธีการทำงาน และการออกแบบงานศิลปหัตถกรรมของญี่ปุ่น


กำลังโหลดความคิดเห็น