สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เฟ้นหาผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมจากทั่วประเทศ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 67 จำนวนรวม 31 ราย เตรียมรวบรวมผลงานเผยแพร่ เพื่อสืบสานส่งต่อองค์ความรู้และภูมิปัญญาในงานหัตถศิลป์ทรงคุณค่าให้เป็นมรดกแห่งภูมิปัญญาของไทยต่อไป
นางพรรณพิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. เปิดเผยว่า สศท.ได้ดำเนินกิจกรรมคัดสรรและเชิดชูเกียรติบุคคลที่ทรงคุณค่า ประกอบด้วย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม โดยในปี 2567 ได้ลงพื้นที่เฟ้นหาเพชรเม็ดงามจากทั่วประเทศ จนได้ผู้สร้างสรรค์งาน ในแต่ละด้านรวม 31 ราย จากหลากหลายผลงานหัตถกรรม และจะรวบรวมองค์ความรู้อันทรงคุณค่าและเอกลักษณ์ในทักษะเชิงช่างของผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมที่ได้รับการยกย่องเชิดชู เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ www.sacit.or.th เพื่อส่งต่อมรดกทางภูมิปัญญาในงานหัตถศิลป์ไทยไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลาต่อไป
สำหรับครูศิลป์ของแผ่นดิน มีจำนวน 4 ท่าน ได้แก่ 1.นายวิษณุ ผดุงศิลป์ งานหัวโขน 2.นายวิรัช ทะไกรเนตร งานจิตรกรรมเบญจรงค์ 3.นายธนเดช บุญนุ่มผ่อง งานเรือฉลอมจำลอง 4.นางสุมิตรา ทองเภ้า งานผ้ายกร้อยเอ็ด
ครูช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 11 ราย ได้แก่ 1.นางจันทร์ศรี คำธิยะ งานผ้าทอมือปกาเกอะญอย้อมสีธรรมชาติ 2.ว่าที่ ร.ต.หญิง ณัฐชกรณ์ บุตรทรัพย์ งานบ้านเรือนไทย เรือนแพจำลอง 3.นายนพดล สดวกดี งานจักสานไม้ไผ่ 4.นายปรีชา การุณ จักสานหมอลำหุ่นกระติบ 5.นายพยงค์ ทรัพย์มีชัย งานตีเคียวและมีด 6.นายมะรอพี แดเนาะ งานจักสานย่านลิเภา 7.นายรุ่งเรือง พิศโสระ งานเครื่องประดับทองเหลือง 8.นายวีระ แจ่มใส งานว่าวไทย 9.นายสง่า อนุศิลป์ งานสลักดุน 10.จ่าเอกสุวรรณ ศาสนนันทน์ งานเครื่องดนตรีไทย (ปี่) 11.นายเอกฉันท์ จันอุไรรัตน์ งานเครื่องลงยาสีร้อน (แบบโบราณ)
ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 16 ราย ได้แก่ 1.นายบรรเทิง วังนาค งานแหวนถักหวายลาย 9 รอบ 2.นางสาวปวีณา สะแหล๊ะ งานเครื่องถม 3.นายพงศธร เจียรศิริ งานเครื่องถม 4.นางสาวพัชราภรณ์ สังกะเพศ งานเครื่องประดับโบราณ 5.นางพีรยา เรืองกิจ งานจักสานใบลาน (สานปลาตะเพียน) 6.นายยงยศ ชูชีพ งานลอมพอก 7.นายรพีพัสตร ทิพย์จักร์ งานเครื่องเงินและเครื่องทอง 8.นายรัตนชัย เพ็งสา งานเครื่องปั้นดินเผา 9.นางสาววรรณภา จันทะวงษ์ งานผ้าไหมมัดหมี่ 10.นายศุภชัย แพงคำไหล งานผ้าไหมมัดหมี่ 11.นายสมรักษ์ นาทา งานเครื่องทองโบราณ 12.นายสวรินทร์ วชิรนานนท์ งานศิราภรณ์และหัวโขน 13.ว่าที่ร้อยตรี สาคร รัตนภานันท์ งานเปียกทอง 14.นางสาวสุนิสา จงเจริญ งานเครื่องประดับเงินและทองสุโขทัย 15.นางอรัญวา ชาวพนาไพร งานกระเป๋าถักเถาวัลย์ป่า (ญอก) 16.นางสาวอัจฉราภรณ์ กล่ำเกลื่อน งานลายรดน้ำ
ที่ผ่านมา สศท. เป็นองค์กรหลักที่ขับเคลื่อนสร้างความยั่งยืนให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทย ด้วยกระบวนการ “สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริม และส่งต่องานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติ” พร้อมผลักดันให้งานศิลปหัตถกรรมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล หนึ่งในนั้นคือการให้ความสำคัญในการอนุรักษ์คุณค่าภูมิปัญญา ทักษะฝีมือและองค์ความรู้เชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคล ที่ถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมีค่าที่สุดเหล่านี้ ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา นับว่าเป็นส่วนสำคัญ เพื่อให้เกิดการส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน และให้คนรุ่นหลังได้เห็นคุณค่า เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการช่วยกันอนุรักษ์ สืบสานต่อ ในขณะเดียวกันก็ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดมรดกทางภูมิปัญญาดั้งเดิม ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ เกิดเป็นงานหัตถศิลป์ร่วมสมัยที่สามารถเชื่อมโยงสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้