xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”ร่วมเฉลิมพระเกียรติ “ในหลวง” ขึ้นทะเบียน GI กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์”ร่วมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ประกาศขึ้นทะเบียน GI กระท้อนทรงปลูก “กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า” เผยเนื้อปุย หอม หวาน การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศ จ.อ่างทอง มั่นใจช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกร

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 ก.ค. 2567 ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “กระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า” กระท้อนทรงปลูกและพระราชทานพันธุ์กระท้อนให้แก่ราษฎรจังหวัดอ่างทอง เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร พัฒนาคุณภาพชีวิต ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สำหรับกระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า เป็นกระท้อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกต้นกระท้อนพันธุ์ “ทองใบใหญ่” ณ วัดยางทอง เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2550


โดยกระท้อนทองใบใหญ่บางเจ้าฉ่า มีลักษณะผลค่อนข้างกลม ขั้วผลนูนเล็กน้อย เปลือกบาง ผิวนอกไม่เรียบ ผลสุกสีเหลืองทอง เนื้อหนานุ่ม ฉ่ำ ปุยเมล็ดมีรสชาติหวานฉ่ำ กลิ่นหอมหวาน มีการขยายพื้นที่ปลูกทั้งอำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ซึ่งมีลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นที่ราบตะกอนน้ำพา มีชุดดินสิงห์บุรีที่มีธาตุโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสสูง รวมถึงภูมิปัญญาและองค์ความรู้ในเรื่องการเพาะปลูกของเกษตรกรที่มีความชำนาญและประสบการณ์ ประกอบกับลักษณะภูมิอากาศจัดอยู่ในโซนร้อนและชุ่มชื้น เป็นแบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีเมฆมากและฝนตกชุก ส่งผลให้กระท้อนมีรสชาติหวานฉ่ำ รสชาติอร่อย และเจริญเติบโตได้ดี จนได้รับรางวัลชนะเลิศด้านรสชาติอันดับ 1 ของจังหวัดอ่างทอง และได้มีการจัดงานมหกรรมกระท้อนทองใบใหญ่ทรงปลูก เพื่อเผยแพร่ผลผลิตกระท้อนให้เป็นที่นิยมของตลาด จนสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชนกว่า 6 ล้านบาทต่อปี

ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้า GI เป็นสินค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล โดยปัจจุบันมีสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ทั่วประเทศแล้ว 206 สินค้า มูลค่ากว่า 71,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรหรือชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดที่สนใจนำสินค้าชุมชนที่มีอัตลักษณ์และเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ สามารถนำมาปรึกษาเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียน GI ได้ที่ ศูนย์บริการประชาชน กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร.1368


กำลังโหลดความคิดเห็น