xs
xsm
sm
md
lg

หัวเว่ย ร่วมจัดแสดงนวัตกรรมดิจิทัลในงาน อว. แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND ส่งเสริมผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคอัจฉริยะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายเอดิสัน สวี่ คณะกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กราบบังคมทูลถวายรายงานเกี่ยวกับแพลตฟอร์มหัวเว่ย อาเซียน อะคาเดมี ประเทศไทย แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตลอดจนถวายรายงานความคืบหน้าโครงการรถดิจิทัลเพื่อสังคม (Digital Bus) มุ่งยกระดับความเท่าเทียมและองค์ความรู้ด้านดิจิทัลในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ร่วมโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯ

ที่ผ่านมาหัวเว่ย ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานภายใต้กระทรวง เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในการพัฒนากำลังคน ผ่านความร่วมมือในโครงการต่างๆ โดยตัวอย่างความร่วมมือระหว่างกระทรวง อว.และหัวเว่ย คือการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมหัวเว่ย อาเซียน อะคาเดมี ประเทศไทย Huawei ASEAN Academy (Thailand) เพื่อร่วมกันพัฒนาบุคคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัล ทั้งในด้านคลาวด์และ AI

ทั้งนี้ Huawei ASEAN Academy (Thailand) ได้มีส่วนช่วยพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลไปแล้วกว่า 96,000 คน ในประเทศไทย ครอบคลุมหลากหลายสาขาวิชาชีพ ตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT ไปจนถึงวิศวกรโซลาร์และนักเรียนในชนบท

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรทางด้านดิจิทัลรวมทั้งสิ้น 100,000 คน ภายในปี 2568 ผ่านโปรแกรมการฝึกอบรมต่างๆ เช่น การอบรมผู้นำระดับ CEO นักพัฒนาคลาวด์ AI และวิศวกรด้านพลังงานสีเขียว

Huawei ASEAN Academy (Thailand) ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลของประเทศไทยใน 4 ทิศทางหลัก :

• สถาบันธุรกิจ: มุ่งเน้นการสร้างผู้นำและนักยุทธศาสตร์สำหรับประเทศไทย จนถึงขณะนี้หัวเว่ยได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐมากกว่า 10 แห่งและผู้บริหารองค์กร ในการฝึกอบรมด้าน 5G, Cloud, AI และความปลอดภัยทางไซเบอร์

• สถาบันเทคนิค: จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาผู้สร้างสรรค์ขั้นสูงและนักนวัตกรรมในอนาคต ซึ่งรวมถึงการแข่งขัน ICT ระดับมหาวิทยาลัยพร้อมทุนการศึกษามูลค่ากว่า 1 ล้านบาท โครงการ Seeds for the Future, โปรแกรมนักพัฒนาคลาวด์ 20,000 คน และการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ

• สถาบันวิศวกรรม: มุ่งเน้นไปที่ผู้ปฏิบัติงานและการฝึกอบรมสายอาชีพ ตัวอย่างเช่น หัวเว่ยทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงแรงงานและสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI) ในการพัฒนาวิศวกร 5G และวิศวกรพลังงานสีเขียว เพื่อให้แรงงานท้องถิ่นมีทักษะล้ำสมัย

• ความเท่าเทียมทางดิจิทัล: ด้วยโครงการ CSR ชั้นนำ เช่น Digital Bus, Tech4All และ Women in Tech ที่มุ่งทำให้ความรู้ด้านดิจิทัลเข้าถึงได้สำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส นับตั้งแต่การเปิดตัว Digital Bus ของหัวเว่ยในปี 2565 รถฝึกอบรมเคลื่อนที่นี้ได้เดินทางไปยัง 14 จังหวัดในประเทศไทยเพื่อให้การฝึกอบรมการสื่อสารโทรคมนาคมและการปกป้องเด็กออนไลน์แก่ชุมชนห่างไกล

ปี 2567 ถือเป็นปีที่ 25 ของการก่อตั้งหัวเว่ยในประเทศไทย โดยมีพันธกิจ "เติบโตในประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย" ท่ามกลางนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะทางด้านดิจิทัลเป็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของหัวเว่ย ซึ่งเรื่องนี้ได้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการส่งเสริมระบบนิเวศดิจิทัลเพื่อสร้างบุคคลากรด้านดิจิทัลร่วมกับพันธมิตร เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อให้ประเทศไทยก้าวหน้าและมีความสามารถในการแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมจัดแสดงนวัตกรรมดิจิทัลที่งาน อว. แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม ศกนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น