xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-สปป.ลาวถกร่วมมือขนส่งเชื่อม 2 ประเทศ พร้อมรับรถไฟขบวนแรก กรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) 20 ก.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ไทย-สปป.ลาว” ประชุมร่วมมือขนส่ง 20 ก.ค. 67 เปิดรถไฟระหว่างประเทศ "กรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)" อย่างเป็นทางการ เพิ่มความสะดวก คาดกระตุ้นการค้า และท่องเที่ยว พร้อมถกคืบหน้าศึกษาก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ "สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2"

วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ณ กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้มีการประชุมความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างไทย-ลาว โดยมีนายไซสงคราม มะโนทัม รองรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ทำหน้าที่หัวหน้าคณะฝ่ายสปป.ลาว และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่หัวหน้าคณะฝ่ายไทย พร้อมด้วยคณะผู้แทนระดับสูงจากกระทรวงคมนาคมของไทย ประกอบด้วย นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นางสาวจิรัชยา พีรานนท์ อัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ นายฐากูร อินทรชม ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ การรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้แทนไทยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

โดยเป็นการหารือที่สำคัญเพื่อกระชับความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งระหว่างสองประเทศ มุ่งเน้นประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ การเชื่อมโยงระบบรางระหว่างประเทศ การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งทางถนนข้ามพรมแดน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคการขนส่ง ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานความร่วมมือที่แน่นแฟ้นและยั่งยืนระหว่างไทย- สปป.ลาว ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่งร่วมกันในอนาคต


หนึ่งในประเด็นสำคัญ คือ การเปิดให้บริการรถไฟระหว่างประเทศเส้นทางกรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์ในการเชื่อมโยงระบบรางระหว่างสองประเทศ หลังจากก่อนหน้านี้มีทางรถไฟจากช่วงหนองคาย-ท่านาแล้ง ระยะทาง 3.5 กิโลเมตรเท่านั้น ต่อมาฝ่ายไทยได้ให้ความช่วยเหลือฝ่าย สปป.ลาว ในการก่อสร้างทางรถไฟขนาดทางกว้าง 1.000 เมตร เพิ่มเติมช่วงท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ระยะทางประมาณ 7.5 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

โดยจะมีขบวนรถไฟให้บริการวันละ 4 เที่ยวไป-กลับ แบ่งเป็น 2 เที่ยวระหว่างกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์-กรุงเทพฯ และอีก 2 เที่ยวระหว่างเวียงจันทน์-อุดรธานี-เวียงจันทน์


นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวว่า การเปิดให้บริการรถไฟระหว่างประเทศในครั้งนี้ถือเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองประเทศในการพัฒนารถไฟที่มีประสิทธิภาพ สะดวกสบาย และปลอดภัย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเดินทางและการขนส่งระหว่างกัน รวมถึงกระตุ้นการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าค่าเดินทางมากกว่า 5 เท่า อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การเปิดให้บริการรถไฟสายนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของความร่วมมือระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว (Lao National Railway State Enterprise: LNRE) ที่ได้ร่วมกันผลักดันโครงการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการยกระดับการคมนาคมขนส่งทางรางในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


@ถกร่วมมือก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งใหม่ "สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2"

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการความร่วมมือที่สำคัญระหว่างสองประเทศ โดยโครงการนี้จะประกอบด้วยการก่อสร้างสะพานรถไฟขนาดทางมาตรฐานกว้าง 1.435 เมตร และทางขนาด 1 เมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการสัญจรและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ปัจจุบันโครงการดังกล่าว รฟท. อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบรายละเอียดและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยฝ่ายไทยได้ขอให้ สปป.ลาวพิจารณาอำนวยความสะดวกในการสำรวจและเก็บข้อมูลในพื้นที่ฝั่งลาว เพื่อให้การศึกษาโครงการเป็นไปอย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การก่อสร้างในอนาคต โดยมีเป้าหมายกำหนดแล้วเสร็จในปี 2572 โดยที่ประชุมเห็นพ้องที่จะร่วมกันพัฒนาการก่อสร้างสะพานรถไฟแห่งที่สองข้ามแม่น้ำโขง

ในด้านการขนส่งทางถนน ที่ประชุมได้รับทราบถึงการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนและการขนส่งผ่านแดนให้มีความราบรื่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้าข้ามแดนได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือถึงแนวทางการกลับมาเปิดให้บริการเดินรถโดยสารประจำทางระหว่างประเทศในเส้นทางที่เหลืออีก 5 เส้นทางจากทั้งหมด 13 เส้นทาง โดยขอให้ฝ่าย สปป.ลาว พิจารณาเส้นทางเชียงราย-แขวงบ่อแก้วและขยายไปยังหลวงน้ำทาเป็นเส้นทางแรก

รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการเปิดใช้สะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ โดยฝ่ายไทยเสนอให้มีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้สามารถกลับมาเปิดให้บริการได้โดยเร็ว


นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้แสดงความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและร่วมมือกับ สปป.ลาว ในการพัฒนาบุคลากรด้านการขนส่ง โดยการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ผ่านการจัดฝึกอบรม สัมมนา และการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการและปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งของทั้งสองประเทศให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ระดับหน่วยงานหารือในรายละเอียดในการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรร่วมกันต่อไป

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบรางของไทย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่เส้นทางบ้านไผ่-นครพนม และอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณปี 2571 รวมทั้งอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติอีก 2 เส้นทาง คือ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2572 และโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงนครราชสีมา-หนองคาย คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2573 โดยขอให้ฝ่าย สปป.ลาว พิจารณาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศต่อไป


ทั้งนี้ การประชุมความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งระหว่างไทย-ลาวในครั้งนี้ ได้ดำเนินไปด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรและสร้างสรรค์ โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งในทุกมิติ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทั้งสองประเทศ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย ได้กล่าวปิดท้ายการประชุมด้วยความเชื่อมั่นว่า "การประชุมในวันนี้ได้วางรากฐานที่สำคัญสำหรับความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับลาวในระยะยาว และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยความมุ่งมั่นและการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดของทั้งสองประเทศ เราจะสามารถผลักดันการเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งในภูมิภาคนี้ให้เจริญก้าวหน้า ซึ่งจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนชาวไทยและลาวต่อไป"


กำลังโหลดความคิดเห็น