xs
xsm
sm
md
lg

อีอีซีผนึกภาคเอกชนศึกษาผลิตขายไฟฟ้าสะอาด ปูทางDirect PPAดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อีอีซีจับมือภาครัฐ-เอกชน 5 หน่วยงานเร่งศึกษาแนวทางซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดรูปแบบDirect PPAในพื้นที่อีอีซี หวังดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติและรักษากลุ่มนักลงทุนเดิมไม่ให้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการศึกษาแนวทางการสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนสามารถจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับผู้ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่ ร่วมกับนายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายฮาราลด์ ลิงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้า เอกชน นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี 100) นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน และ นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และนายดอน ทยาทาน เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567

การลงนามดังกล่าวเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างอีอีซี หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทั้ง5หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนและสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดนําไปสู่การพัฒนาพื้นที่อีอีซีอย่างยั่งยืน โดยได้มอบหมายให้TDRI เป็นผู้ศึกษาและพิจารณาด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ระเบียบการขออนุญาตการตั้ง ระบบโครงข่ายไฟฟ้า การขอใช้ที่ดินในการสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการศึกษาถึง ต้นทุนสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้า การประเมินต้นทุนและผลประโยชน์เชิงสังคม (Social cost and Social benefit) เพื่อจะเป็นต้นแบบให้เกิดการคํานวนต้นทุนสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ในพื้นที่อื่น ๆ เป็นต้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 4 เดือนข้างหน้า


นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การลงนามฯ MOU ครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน ที่จะร่วมกันศึกษาถึงแนวทางสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน สามารถจ่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้กับพื้นที่อีอีซีผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าใหม่ให้เร็วที่สุดเพื่อรองรับการลงทุนใหม่ด้านนวัตกรรมที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด ขณะเดียวกันก็รักษานักลงทุนต่างชาติเดิมไม่ให้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีความพร้อมในการจ่ายไฟฟ้าสะอาด มั่นใจว่าในปี2569 จะเห็นการ

ปัจจุบันผู้ประกอบการทั่วโลกกําลังเผชิญกับแรงกดดันให้ใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก อันเนื่องมาจาก มาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี หรือที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งประเทศไทยยังมีความล่าช้าในการปรับตัวต่อสถานการณ์นี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศ ( FDI) เริ่มย้ายฐานการ ผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย

หากสถานการณ์นี้ยังคงดําเนินต่อไป ประเทศไทยอาจสูญเสียความน่าสนใจในฐานะแหล่งผลิตเพื่อการส่งออกในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นจึงต้องเร่งผลักดันให้โครงการฯ นี้เพื่อเป็นโครงการต้นแบบการใช้พลังงานสะอาด สําหรับอุตสาหกรรมไทยและจะเป็นจุดเปลี่ยนผ่านไปสู่ พลังงานสะอาดที่มั่นคง มีราคาที่เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของนักลงทุน

“เรื่องนี้เป็นโจทย์เร่งด่วน เนื่องจากพื้นที่อีอีซีมีอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทำให้ความต้องการใช้พลังงานสะอาดสูง โดยเราจำเป็นต้องเร่งดำเนินการก่อนที่นักลงทุนต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งใน2-3ปีข้างหน้า พบว่านักลงทุนราว 80%ต้องการใช้พลังงานสะอาด โดยเร่งให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดขายไฟฟ้าโดยตรงกับลูกค้าที่ต้องการใช้(Direct PPA)ในพื้นที่อีอีซี โดยอีอีซีสามารถให้สิทธิประโยชน์และออกใบอนุญาตให้ได้เลย เชื่อว่าภายในปี2569จะเห็นการซื้อขายไฟฟ้า Direct PPAในพื้นที่อีอีซี เบื้องต้นจะเป็นไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพราะสามารถพัฒนาต่อยอดสู่พลังงานไฮโดรเจนได้”


นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในการขับเคลื่อนพลังงานสะอาดของประเทศไทย และส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานสะอาด เพื่อรองรับและดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสะอาด ทาง กฟภ.จึงมีการดําเนินการต่างๆ เพื่อสอดรับ ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าเพิ่มศักยภาพของโครงข่ายไฟฟ้าให้ สามารถรองรับแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด การร่วมขับเคลื่อนนโนบายการให้บริการไฟฟ้าสีเขียว UGT: Utility Green Tariff หนุนให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคต

รวมไปถึงการส่งเสริมการให้บริการระบบ โครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม หรือ Third Party Access Code : TPA Code เพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมการแข่งขันใน กิจการไฟฟ้าแบบเสรี เพื่อทําให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้โดยตรง


นายฮาราลด์ ลิงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความพร้อมในการผลิต จัดส่ง และ จําหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งจากกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้า Cogeneration และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานไฟฟ้าสะอาดในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ซึ่งภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการด้านพลังงานสะอาด ที่มีความจําเป็นสําหรับการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

ยอมรับว่าการลงทุนพลังงานหมุนเวียนหรือ RE100ในพื้นที่อีอีซี เพื่อขายให้กับลูกค้าที่ต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดโดยตรง(Direct PPA)นั้น ทำได้ยากเนื่องจากราคาที่ดินในพื้นที่อีอีซีมีราคาแพงเฉลี่ย 2-4 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์จะใช้พื้นที่ 6ไร่ ทำให้การลงทุนสูงมีผลต่อค่าไฟ ดังนั้นความเป็นไปได้คือการลงทุนนอกพื้นที่อีอีซี แล้วจ่ายไฟฟ้าผ่านโครงข่ายระบบสายส่งขอวการไฟฟ้าไปยังลูกค้าในอีอีซี ซึ่งต้องรอดูอัตราจัดเก็บค่าสายส่งควรเป็นเท่าใด จึงจะสรุปราคาค่าไฟฟ้าRE100ได้

อย่างไรก็ดี ปัจจัยหลักที่สําคัญในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดนี้ จะต้องมีการเปิดเสรีสําหรับการ ใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (TPA Code) เพื่อส่งเสริมให้เกิดตลาดซื้อขายไฟฟ้าอย่างเสรีได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ซื้อไฟฟ้าที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด แล้วยังตอบสนองนโยบายภาครัฐในเรื่องการมุ่งสู่เป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060 ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดําเนินการให้มีการเปิดเสรีโดยเร็ว โดยจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรม และราคาที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนให้เกิดการซื้อขายกันได้

นอกจากนี้ อยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุมัติการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าและอื่นๆอย่างรวดเร็วสอดคล้องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อให้ทันต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้RE100


นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE 100)กล่าวว่าในอนาคตพลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นพลังงานหลักของระบบพลังงานโลกจะมีบทบาทที่สําคัญมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการสร้างงานที่มั่นคงและยั่งยืนและเป็นการสร้างโลกที่สะอาดขณะที่เทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนจะยังคงมีการพัฒนาและก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและเป็นเครื่องมือหลักของมนุษย์ชนในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ความท้าทายของการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนคือการสร้างความตระหนักรู้ถึงความจําเป็นและความเข้าใจของประชาชนถึงข้อดีข้อเสียของพลังงานหมุนเวียนและการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดต้นทุนและเพิ่มเสถียรภาพขึ้นมาได้เทียบเท่าหรือมากกว่าพลังงานจากฟอสซิล


กำลังโหลดความคิดเห็น