1 ต.ค. 67 ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ย้ายทุกเที่ยวบินกลับ “ดอนเมือง” คาดลดค่าใช้จ่ายลง 12% ทอท.ชูรูปแบบบริการ POINT-TO-POINT สะดวก จ่อเจรจาย้ายสายการบินมาเพิ่ม แอร์เอเชียเล็งถกปรับดอนเมืองเฟส 3 ผุด "แอร์เอเชีย เทอร์มินัล"
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT และ นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ร่วมแถลงข่าวในการที่สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ย้ายฐานปฏิบัติการมาประจำ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท.พร้อมส่งเสริมนโยบายรัฐบาลผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของโลก เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ และเชื่อมต่อการเดินทางแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งอย่างไร้รอยต่อ ทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในทุกมิติ ซึ่ง ทอท.มีแผนพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่รองรับเที่ยวบินเชื่อมต่อ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการบิน ส่วนท่าอากาศยานดอนเมืองมีเป้าหมายเป็น "ท่าอากาศยานที่รวดเร็ว และสะดวกสบาย" หรือ "Fast and Hassle-free Airport" ซึ่งความสะดวก คือจะต้องเป็นท่าอากาศยานแบบ POINT-TO-POINT สะดวก รวดเร็ว
สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ตรงเป้าหมายบริการแบบ POINT-TO-POINT เส้นทางระหว่างประเทศ ใน 7 จุดหมายและจะเพิ่มขึ้นในอนาคต การย้ายมาดอนเมืองจะทำให้การเชื่อมต่อเที่ยวบินในประเทศได้สะดวกมากขึ้น โดยที่ดอนเมือง แอร์เอเชียมีสัดส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ 20% สัดส่วนผู้โดยสารในประเทศ 30% ทอท.จึงเสนอและหารือร่วมกัน มีการปรับบริการให้เหมาะสมและคง Slot การบินเหมือนเดิม ไม่ต้องขอจัดสรรใหม่ เป้าหมายคือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการร่วมกัน
“เดิมสนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสารระหว่างประเทศ 18 ล้านคน/ปี หลังไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ย้ายไปสุวรรณภูมิ จำนวนผู้โดยสารลดลงเหลือ 12-13 ล้านคน/ปี การที่ย้ายกลับมาจะทำให้ที่ดอนเมืองเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 ล้านคน/ปี หรือเกือบ 20% เป็นนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของดอนเมือง”
นายกีรติกล่าวว่า ขณะนี้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิยังมีอีกกว่า 10 สายการบินที่ให้บริการแบบ POINT-TO-POINT เส้นทางในภูมิภาค ส่วนจะย้ายมาที่ท่าอากาศยานดอนเมืองหรือไม่ จะต้องมีการเจรจาความเหมาะสม หาแรงจูงใจ และสุดท้ายคือเรื่องประสิทธิภาพการบริหารของแต่ละสายการบินที่จะนำมาตัดสินใจ
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ กพท. กล่าวว่า การบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคของประเทศไทย ต้องร่วมมือและมีหลายมิติที่ต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน นอกจากการกระตุ้นอุปสงค์ (Demand) แล้ว การทำให้เกิดอุปสงค์ของตลาด (Market) โดยการเพิ่มขีดความสามารถของระบบการบินให้หลากหลายขึ้น ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ย้ายฐานปฏิบัติการ เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้นโยบาย นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อการบริหารจัดการระบบสนามบินที่สำคัญของประเทศ โดยการทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น สำหรับพัฒนาเป็นสนามบินเพื่อการเชื่อมต่อเที่ยวบินระหว่างประเทศของการเดินทางในระยะไกล (Long-haul) ในขณะที่สนามบินดอนเมืองก็มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นในการเป็นสนามบินที่เชื่อมโยงเที่ยวบินระหว่างประเทศในระยะใกล้ถึงปานกลาง (Short-haul and Medium-haul flights) กับเที่ยวบินภายในประเทศ และมีผลดีต่อการจัดจราจรทางอากาศและสามารถออกแบบเส้นทางบินที่ลดระยะจุดตัด เพิ่มขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินและช่วยลดต้นทุนการใช้เชื้อเพลิงได้
นายธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวว่า การกลับมาให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองของไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ และภาพรวม การปฏิบัติการบินที่ดอนเมือง มีผลดีในการเชื่อมต่อผู้โดยสารกับไทยแอร์เอเชีย ที่ปัจจุบันมีให้บริการ 12-13 เที่ยวบินต่อวัน หรือ 80 เที่ยวบิน/สัปดาห์
ในปี 67 สายการบินไทยแอร์เอเชียคาดมีผู้โดยสาร 20-21 ล้านคนจากปีก่อนที่ 18.9 ล้านคน ส่วนไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ คาดปีนี้มีผู้โดยสาร 2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.3 ล้านคน และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่า 2 สายการบินรวมกันจะมีผู้โดยสาร ราว 40-45 ล้านคน/ปี โดยไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ตั้งเป้าใน 5 ปีจะมีจำนวนผู้โดยสาร 10 ล้านคน/ปี
นอกจากนี้ ต้นทุนค่าใช้จ่ายจะลดลงประมาณ 10-12% หลักๆ ประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเนื่องจากรันเวย์ แท็กซี่เวย์ระยะสั้นกว่า และมีอัตราค่าบริการขึ้น-ลงของอากาศยาน (Landing Charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ที่ถูกกว่าสุวรรณภูมิ สายการบินไทยแอร์เอเชียมีความเเข็งเเกร่ง ด้วยส่วนเเบ่งการตลาดเส้นทางในประเทศสูงสุดกว่า 40% มีเครือข่ายบินต่างประเทศที่หลากหลายครอบคลุมทั้งจีน อินเดีย เอเชียใต้ อาเซียน ญี่ปุ่น รวมทั้งเมืองไทเป เกาสง รวมกว่า 93 เส้นทาง หรือ 1,250 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นโอกาสในการเชื่อมต่อเที่ยวบิน หรือ Fly Thru ที่ส่งเสริมกันต่อไป
สำหรับผู้โดยสารที่สำรองที่นั่งไว้เเล้ว และเดินทางกับไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (รหัสเที่ยวบิน XJ) ตั้งเเต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 สายการบินจะปรับเที่ยวบินของท่านมาที่ท่าอากาศยานดอนเมืองโดยอัตโนมัติ และจะเเจ้งให้ท่านทราบโดยตรงผ่านทางอีเมล SMS หรือช่องทางที่ท่านเเจ้งไว้กับสายการบิน โดยจะเริ่มแจ้งตั้งเเต่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป เพื่อรับข้อเสนอทางเลือกบริการที่เหมาะสม
ปัจจุบันไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีฝูงบินแอร์บัส เอ 330 รวม 8 ลำ ทยอยเพิ่มเป็น 11 ลำ ณ สิ้นปี 2567 หลังจากนั้นวางเเผนรับเครื่องบินเพิ่มปีละ 3-5 ลำ เพื่อเพิ่มความถี่เเละเปิดบินเส้นทางใหม่ๆ เติบโตต่อเนื่องเป้าหมายมี 30 ลำภายใน 5 ปี
“การย้ายฐานการบินกลับมาที่ดอนเมือง ถ้ามองไปในอีก 5 ปีข้างหน้า ศักยภาพการเจริญเติบโตของดอนเมืองมีแนวโน้มดีกว่าสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะในเรื่องของสลอตการบิน”
สำหรับสายการบินไทยแอร์เอเชีย (รหัสเที่ยวบิน FD) ที่ฐานปฏิบัติการบินสุวรรณภูมิ เส้นทางสุวรรณภูมิ สู่เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ หาดใหญ่ และเส้นทางสุวรรณภูมิ-กัวลาลัมเปอร์ (รหัสเที่ยวบิน D7) ยังคงให้บริการที่สุวรรณภูมิตามเดิม
@เล็งถก ทอท.ปรับพัฒนาดอนเมืองเฟส 3 ขอใช้อาคารผู้โดยสารหลังเดิม "แอร์เอเชีย เทอร์มินัล"
นายธรรศพลฐ์กล่าวถึงแนวคิดที่จะเสนอ ทอท.ขอมีอาคารผู้โดยสารหรือ “แอร์เอเชีย เทอร์มินัล” ว่า ล่าสุดได้หารือกับ ทอท.เกี่ยวกับโครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 ของท่าอากาศยานดอนเมือง ทางแอร์เอเชียขอมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น ซึ่งเป็นห่วงเรื่องการเชื่อมต่อเที่ยวบิน (Connecting) เน้นความสะดวกสบายของผู้โดยสารเป็นหลัก ระหว่างเที่ยวบินระหว่างประเทศกับในประเทศให้คล่องตัวที่สุด มีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งผลดีต่อการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่าย สามารถทำราคาตั๋วเครื่องบินจูงใจผู้โดยสารได้ จะได้มีผู้โดยสารมาใช้บริการมากขึ้น
“เช่น ถ้าลงเครื่องบินเส้นทางระหว่างประเทศแล้วต้องเดินเพื่อต่อเที่ยวบินอีก 2 กิโลเมตรก็ไม่มีใครอยากไป หรือทุกเที่ยวบินเชื่อมต่อด้วยรถบัสก็ไม่สะดวก เชื่อว่าทั้งหมดนี้มีวิธีบริหารจัดการ สามารถปรับเปลี่ยนได้ ไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าอาคารผู้โดยสารหลังนั้นๆ จะต้องรองรับเฉพาะเที่ยวบินในประเทศหรือระหว่างประเทศเท่านั้น ในอาคารเดียวกันสามารถรองรับเที่ยวบินทั้งในและระหว่างประเทศ ตอนนี้ดอนเมืองเฟส 3 ยังเป็นแค่พิมพ์เขียว ไม่ได้เริ่มก่อสร้าง ก็น่าจะสามารถปรับเปลี่ยนได้ ยกตัวอย่าง ทอท.อาจปรับเปลี่ยนให้สายการบินอื่นย้ายไปใช้อาคารหลังใหม่ ส่วนอาคารหลังเดิม ให้แอร์เอเชียใช้บริหารจัดการ ช่วยให้เที่ยวบินในเครือแอร์เอเชียเชื่อมต่อกันง่ายขึ้น”