xs
xsm
sm
md
lg

ปิดดีลไม่ลง! บอร์ด รฟท.โยนฝ่ายกฎหมายพิจารณา ประมูลพัฒนา พท.สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หลังถูกติงเอกชนเสี่ยงลงทุนไม่ไหว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปิดดีลไม่ลง ประมูลพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ บอร์ด รฟท.สั่งหารือฝ่ายกฎหมายหลังอนุฯ ฝ่ายทรัพย์สินติงลงทุนสูงเสี่ยงไปไม่รอด ยังต้องลุ้นเดินหน้าเซ็นสัญญาเอกชนหรือยกเลิกประมูล

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด รฟท.ครั้งที่ 8/2567 วันที่ 11 ก.ค. 2567 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอผลการประกวดราคา ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ระยะเวลา 20 ปี ซึ่งมีกิจการร่วมลงทุน พี จี ดับบลิว อาร์ (PGWR Consortium) ที่ยื่นประมูลรายเดียว ได้รับการคัดเลือก โดยคณะอนุกรรมการฝ่ายทรัพย์สิน รฟท.แสดงความเห็น โดยกังวลในเชิงการบริหารจัดการ การเงิน และการลงทุนต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงสัดส่วนการถือหุ้น ทุนจดทะเบียน และกระบวนการประมูลที่มีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว จะมีประสิทธิภาพในการทำงานได้จริงหรือไม่ โดยบอร์ดรับฟังความเห็นของอนุฯทรัพย์สิน และสั่งให้นำไปหารือกับคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายต่อไป


ส่วนการจะยกเลิกโครงการและประมูลใหม่หรือไม่ ต้องรอข้อมูลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อน ซึ่งกรณียื่นประมูลรายเดียว ก็เป็นเหตุให้ยกเลิกได้แต่หากไม่ยกเลิกก็ต้องมีเหตุผล ซึ่งคณะกรรมการประกวดราคาจะพิจารณาและเสนอตามขั้นตอน และผู้ว่าฯ รฟท.เป็นผู้มีอำนาจยกเลิกประมูลตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการยกเลิกประมูล รฟท.จะทำอย่างไรต่อ นายจิรุตม์กล่าวว่า บอร์ดเข้าใจเรื่องนี้เพราะสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เปิดมาระยะหนึ่งแล้ว แต่คงต้องได้ข้อสรุปข้างต้นก่อนแล้วค่อยมาพิจารณาว่าจะเอาอย่างไรต่อไป ยอมรับว่า การเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะต้องทบทวนเงื่อนไขใหม่ เพราะอาจจะตั้งมาตรฐานสูงไป ดังนั้น ในขณะนี้ รฟท.จะดำเนินการเองไปก่อน


@ผลตอบแทนสูง รฟท.ได้ประโยชน์ ยื่นรายเดียวมีเหตุผลเดินหน้าต่อไป

ด้านนายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ผลประมูลพัฒนากิจกรรมเชิงพาณิชย์ บริเวณอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งอนุฯ ฝ่ายทรัพย์สินมีความเห็นเกี่ยวกับความมั่นคงของโครงการ โดยกังวลเรื่องการลงทุนระยะยาวถึง 20 ปี และเอกชนเสนอการลงทุนค่อนข้างสูง และให้ผลตอบแทน รฟท.สูงกว่าราคากลาง จึงมองว่าบางข้อเสนออาจทำไม่ไหว มีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้โครงการไม่สำเร็จตามเป้าหมายได้ เช่น การลงทุนปรับปรุงประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งต้องไปกู้มาดำเนินการ ขณะที่กำหนดทุนจดทะเบียนประมาณ 100 ล้านบาท จะหนักไปหรือไม่ นอกจากนี้ ต้องจ่ายผลตอบแทนและค่าเช่าให้ รฟท.อีก

โดยเอกชนจ่ายผลตอบแทน 3 ส่วน ได้แก่ 1. ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ 500 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน 2. ค่าส่วนกลาง (ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า) 150 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน และ 3. บวกผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ซึ่งปีแรกจะส่งมอบพื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางเมตร รฟท.จะได้ผลตอบแทนรวมอย่างน้อย 158 ล้านบาท และปีต่อไปจะเพิ่มขึ้นตามการส่งมอบพื้นที่ ครบจำนวนทั้งหมด 47,675 ตารางเมตร จะมีค่าตอบแทนรวมอย่างน้อย 366 ล้านบาทต่อปี


ส่วนกรณีที่มีผู้ยื่นข้อเสนอ 1 ราย ตามระเบียบ ต้องยกเลิกยกเว้นมีเหตุผล ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการประกวดราคาฯพิจารณาในเรื่องข้อเสนอผลประโยชน์ที่รฟท.จะได้รับ อีกทั้งได้สอบถามบริษัทฯเพื่อยืนยันในการลงทุนแล้ว โดยมีการเจรจาได้ข้อยุติเมื่อเดือน ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา จึงเห็นว่าไม่น่ามีปัญหา อย่างไรก็ตาม บอร์ด รฟท.ให้หารือกับอนุฯ ด้านกฎหมาย ดูเงื่อนไขต่างๆ ว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ เพื่อสรุผลและนำเสนอบอร์ด รฟท.พิจารณาอีกครั้ง คาดว่าจะเสนอได้ในเดือน ส.ค.นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น