xs
xsm
sm
md
lg

“LINE MAN Wongnai - สาธิต มธ.” เพิ่มความหลากหลายทางเพศสายเทคฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - LINE MAN Wongnai ร่วมกับโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมนำร่อง "Spectrum Tech Camp ทุกคน ทุกเฉดสี มีที่ยืน" เปิดคอร์ส Software Engineer และ UX Design เบื้องต้น แนะแนวสายอาชีพเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่เพื่อทลายอคติทางเพศและนำความหลากหลายมาสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศไทยที่กำลังขาดแคลนบุคลากรคุณภาพ 


ปัจจุบันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลกยังคงมีผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากหลายปัจจัย อาทิ การขาดแคลนบุคคลต้นแบบที่เป็นเพศหลากหลาย รวมถึงการเลือกปฏิบัติทางเพศที่ยังคงมีอยู่

โดยข้อมูลจากงานวิจัยของ McKinsey พบว่าบริษัทที่มีความหลากหลายทางเพศในทีมผู้บริหารมีโอกาสสูงถึง 27% ที่จะมีผลประกอบการทางการเงินดีกว่าบริษัทที่มีความหลากหลายน้อย เนื่องจากทีมเทคโนโลยีที่มีความหลากหลายจะสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของคนทุกกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอายุ อาชีพ หรือเพศ

LINE MAN Wongnai ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของไทย ให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลายของบุคลากรมาตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนพนักงานสายเทคโนโลยีประมาณ 500 คน เป็นผู้หญิงและ LGBTQ+ สัดส่วน 20.6%
เนื่องในโอกาส Pride Month ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทได้จัดกิจกรรม LINE MAN Wongnai Spectrum Tech Camp ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนำพนักงานทีมเทคโนโลยีของบริษัท มาช่วยปูพื้นฐานความรู้ด้านอาชีพสายเทคโนโลยีให้กับนักเรียน ในรูปแบบกิจกรรมเวิร์กชอปที่ให้ลงมือปฏิบัติจริง โดยมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 40 คน เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาและตลาดแรงงานด้านเทคโนโลยีในอนาคต


อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์ รองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคลและวัฒนธรรมองค์กร LINE MAN Wongnai กล่าวว่า "บริษัทของเราให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศผ่านสวัสดิการและวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพความแตกต่าง ภายใต้ Core Value อย่าง Respect Everyone ที่ไม่เพียงเกิดขึ้นแต่ภายในองค์กรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปฏิบัติต่อบุคคลภายนอกด้วย ซึ่งเรามองว่าการเพิ่มความหลากหลายโดยเฉพาะกลุ่ม tech Talent นับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศ"

เพ็ญทิพา แจ่มจันทร์เกษม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ LINE Pay ประเทศไทย กล่าวว่า "อคติทางเพศในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีมาตลอดทุกยุคสมัย เนื่องจากสังคมชายเป็นใหญ่มีอิทธิพลต่อการศึกษาและความคิดของผู้คน แต่ในปัจจุบันพบว่า มีการเปิดโอกาสและให้ความสำคัญกับเพศอื่น ๆ มากขึ้น เพราะเทคโนโลยีไม่มีเพศ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน กิจกรรม Spectrum Tech Camp นี้เป็นความพยายามปลูกฝังแนวคิด 'เทคโนโลยีไม่มีเพศ' ให้กับเยาวชน เพื่อสร้างโอกาสและแรงบันดาลใจให้พวกเขาก้าวเข้าสู่วงการโดยไม่มีข้อจำกัดทางเพศ คอร์สเรียนที่เราจัดกิจกรรมกับน้อง ๆ นักเรียน คือ การปูพื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยี พร้อมกิจกรรมเวิร์กชอปที่ให้ได้ลงมือทำจริง โดยมีพี่ ๆ พนักงานในบริษัทที่เป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์ม LINE MAN Wongnai ได้มาสอนด้วยตัวเอง”


พรรษพร โตเทศ รองผู้อำนวยการด้านพัฒนานักเรียนและกิจกรรม โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า "โรงเรียนของเราไม่ปิดกั้นเรื่องเพศสภาพ เราเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงออกตามตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา พร้อมสนับสนุนการค้นหาความเป็นตัวเอง ผ่านการเลือกวิชาอาชีพตามความสนใจ โดยกิจกรรม LINE MAN Wongnai Spectrum Tech Camp นี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยเปิดโลกทัศน์ด้านเทคโนโลยีให้กับเด็ก ๆ ของเรา และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนที่มีความสนใจด้านเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี และเยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นแกนนำในการสร้างความรู้ความเข้าใจกับเพื่อน ๆ และพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อลดอคติทางเพศ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความหลากหลายให้กับวงการเทคโนโลยีในอนาคต"

LINE MAN Wongnai ผลักดันนโยบายสนับสนุนความหลากหลายและไม่แบ่งแยก (Diversity & Inclusion) โดยยึดมั่นในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่โอบรับทุกความแตกต่าง และให้ความสำคัญในการสนับสนุนสวัสดิการที่ครอบคลุมพนักงานทุกคนให้เป็นมาตรฐานขององค์กรรุ่นใหม่ สำหรับสวัสดิการสนับสนุนกลุ่มพนักงาน LGBTQ+ ได้แก่ เงินสนับสนุนการแต่งงานเพศเดียวกัน สิทธิ์วันลาสำหรับรับบุตรบุญธรรม สิทธิ์วันลาสำหรับการผ่าตัดแปลงเพศ และหลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้จริง สวัสดิการเงินค่าทำศพสำหรับคู่สมรสตามกฎหมายก็จะครอบคลุมกับกลุ่มพนักงาน LGBTQ+ ด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นความก้าวแรกของความก้าวหน้าทางสังคม กฎหมาย และธุรกิจของประเทศไทย






กำลังโหลดความคิดเห็น