xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนเพิ่ม หลังน้ำมันขึ้น ส่งออกโต ซื้อออนไลน์พุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สนค.เผยดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาส 2 ปี 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เหตุน้ำมันขึ้น ดอกเบี้ยและค่าจ้างอยู่ในระดับสูง ส่งออกขยายตัว และผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น คาดแนวโน้มไตรมาส 3 ยังปรับขึ้น แต่ต้องจับตาผู้ประกอบการขนส่งเรียกร้องรัฐตรึงราคาดีเซลจะเป็นไปในทิศทางใด

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาส 2 ปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 หลังจากที่ชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 และปรับตัวลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 โดยมีสาเหตุจากการสูงขึ้นของต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการเงิน ทั้งอัตราดอกเบี้ย และอัตราค่าจ้างยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความต้องการขนส่งที่ขยายตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออก และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้บริการแบบดิจิทัลมีมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมการขนส่งแบบถึงมือผู้รับ (Last-Mile Delivery) เติบโตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน เมื่อพิจารณาตามโครงสร้างตามกิจกรรมการผลิตเพิ่มขึ้น 2% โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของค่าบริการขนส่งทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะค่าบริการขนส่งหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 2.3% (ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์) ตามด้วยค่าบริการขนส่งหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง เพิ่ม 1.1% (กลุ่มถ่านหินและลิกไนต์ ปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ) และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง เพิ่ม 0.7% (กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร) และหากแบ่งตามโครงสร้างประเภทรถ เพิ่มขึ้น 0.4% อาทิ ค่าบริการขนส่งด้วยรถตู้บรรทุก เพิ่ม 1.4% ตามด้วย รถบรรทุกวัสดุอันตราย เพิ่ม 1.2% รถบรรทุกเฉพาะกิจร้อยละ เพิ่ม 0.8% รถกระบะบรรทุก เพิ่ม 0.7% และรถบรรทุกของเหลว เพิ่ม 0.7% ส่วนรถพ่วง ลด 0.3% รถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

โดยการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนดังกล่าว สอดคล้องกับดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
ที่ขายปลีกในประเทศ โดยไตรมาส 2 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้น 4.41% และราคาโดยเฉลี่ยน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตลาดสิงคโปร์ และราคาน้ำมันดิบดูใบ ไตรมาสที่ 2 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 8.30% และ 10.17% ตามลำดับ ส่วนการส่งออก ก็เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 เดือน โดย เม.ย. เพิ่ม 6.8% พ.ค. เพิ่ม 7.2% รวมถึงดอกเบี้ย ค่าจ้าง ที่อยู่ในระดับสูง การขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าออนไลน์

นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาส 3 ปี 2567 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญจากต้นทุนของผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบด้วยราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราค่าจ้าง และดอกเบี้ยที่ยังอยู่ระดับสูง ขณะที่การส่งออก และภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีต่อความต้องการขนส่ง ประกอบกับฐานที่ใช้คำนวณดัชนีไตรมาส 3 ปี 2566 อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ส่งผลให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนในไตรมาส 3 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่การที่สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ภาครัฐออกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล อาจส่งผลให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไม่เป็นไปตามที่คาดได้

ข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2565 พบว่า ปริมาณการขนส่งทางถนนมีสัดส่วนถึง 79.48% ของการขนส่งรวม เพิ่มขึ้นจาก 78.72% ในปี 2564 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ศูนย์วิจัยกรุงศรี รายงานว่า ต้นทุนการขนส่งสินค้าทางถนนสูงกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น ยกเว้น ทางอากาศ เนื่องจากมีสัดส่วนของต้นทุนผันแปรสูง อาทิ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง สัดส่วน 49% ของต้นทุนรวม และค่าจ้างขับรถ สัดส่วน 32% เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน ขณะที่การปรับขึ้นค่าบริการขนส่งทำได้จำกัด เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งการแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศและต่างชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น