xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.จับมือเฮอร์มีส โคออพฯ ผุดนิคมฯ ใหม่ใน EEC ตั้งเป้าดูดเงินทุน 3.5 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กนอ.ผนึกเฮอร์มีสฯ จัดตั้งนิคมฯ เฮอร์มีส ที่จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่ 1,231 ไร่ รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและผลิตชิ้นส่วนฯ รวมทั้ง Data Center มั่นใจดึงดูดการลงทุนได้กว่า 35,000 ล้านบาท และสร้างงานกว่า 8,800 ตำแหน่ง

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานโครงการนิคมอุตสาหกรรมเฮอร์มีส ระหว่าง กนอ. กับ บริษัท เฮอร์มีส โคออพเปอเรชั่น จำกัด ว่า บริษัท เฮอร์มีส โคออพเปอเรชั่น จำกัด ได้ร่วมมือกับกนอ.จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเฮอร์มีส ซึ่งจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 70 ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.


ทั้งนี้ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเฮอร์มีส มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมบนฐานของเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม โดยเน้นพัฒนาในกลุ่ม Cluster อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ซึ่งประเทศไทยมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน (มกราคม 2565-เมษายน 2566) และเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปีก่อน ในจำนวนนี้มีสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตจากประเทศจีนอยู่เป็นจำนวนมาก จึงถือเป็นโอกาสดีที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในประเทศไทยต่อไป

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในครึ่งหลังปี 2567 นายวีริศกล่าวว่า กนอ.มั่นใจว่าในปีงบประมาณ (ต.ค. 2566-ก.ย. 2567) สามารถขาย/เช่าที่ดินในนิคมฯ ได้ 4,000-4,500 ไร่ตามเป้าหมายใหม่ที่กำหนดไว้ เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่กำหนด 3,000 ไร่ ส่วนยอดขายที่นิคมฯ จะขยับขึ้นไปเท่ากับปีก่อนที่ 6,000 ไร่เป็นเรื่องท้าทายเพราะเหลือเวลาอีกเพียง 3 เดือน

ช่วงนี้ทั่วโลกมีการปรับฐานการลงทุนรองรับเทคโนโลยีใหม่ ทำให้เกิดทยอยปิดโรงงานในไทยในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้นนับวันอยู่ในไทยได้ยากขึ้น

ปัจจุบันไทยมีการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กันมาก ขณะที่รถเครื่องยนต์สันดาปก็เริ่มมีการปิดตัวหรือย้ายฐาน จึงอยากให้รัฐมีนโยบายช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการเครื่องยนต์สันดาปต่อยอดปรับไปผลิตรถปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) แทน ไม่อยากให้ทิ้ง โดยอาจจะลดภาษีเพื่อให้รถปลั๊กอินไฮบริดแข่งขันกับรถ EV ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยเหลือผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เดิมที่มี 3-4 แสนคน ซึ่งญี่ปุ่นก็เห็นด้วย


นายสมชัย ไทยสงวนวรกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เฮอร์มีส โคออพเปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนต่างชาติทั้งจีน สหรัฐฯ และยุโรปให้ความสนใจซื้อที่ในนิคมอุตสาหกรรมเฮอร์มิส ซึ่งจะเปิดจองควบคู่กับการลงทุนด้านสาธารณูปโภคในปีหน้า เบื้องต้นนิคมฯ ดังกล่าวเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2569 คาดว่าจะปิดการขายที่ดินกว่า 1.2 พันไร่ภายใน 2 ปี

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ได้แก่อุตฯยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง รวมไปถึง Data Center และ Cloud Service ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เนื่องจากธุรกิจ Data Center ต้องการใช้พลังงานสะอาดตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น บริษัทมีแผนร่วมลงทุนพันธมิตรเจ้าของเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนเพื่อผลิตไฟฟ้าสีเขียวป้อนให้กับอุตสาหกรรม Data Center ที่ต้องใช้ไฟฟ้าสะอาดตลอด 24 ชั่วโมง โดยยอมรับว่าการลงทุนพลังงานไฮโดรเจนใช้เงินลงทุนสูงมาก แต่ผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมงเมื่อเทียบกับพลังงานทดแทนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตไฟฟ้าได้เพียง 5 ชั่วโมงต่อวัน เบื้องต้นการตัดสินใจลงทุน ราคาค่าไฟฟ้าต้องแข่งขันได้

บริษัท เฮอร์มีส โคออพเปอเรชั่น จำกัด เป็นบริษัทในเครือบริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลักในการผลิตและประกอบรถยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้าจำหน่ายลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ด้วยศักยภาพและเครือข่ายธุรกิจที่มั่นคงยาวนาน บริษัทฯ จึงเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาพื้นที่เพื่ออุตสาหกรรมภายใต้ชื่อ “นิคมอุตสาหกรรมเฮอร์มีส” มีเป้าหมายสร้างกลุ่ม Cluster อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ รวมถึง Data Center และ Cloud Service ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

โครงการนิคมอุตสาหกรรมเฮอร์มีสตั้งอยู่ในตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พื้นที่ประมาณ 1,231 ไร่ เป็นรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุน พัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภคภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการ กนอ. ครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 มีมติอนุมัติในหลักการจัดตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมเฮอร์มีส ภายใต้เงินลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ประมาณ 2,880 ล้านบาท เชื่อมั่นว่านิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะดึงดูดการลงทุนได้อย่างมหาศาล สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 35,320 ล้านบาท และจ้างงานประมาณ 8,830 ตำแหน่ง คาดว่านิคมดังกล่าวจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2569


กำลังโหลดความคิดเห็น