xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ เร่งปิดดีล FTA ไทย-EFTA ลุยถกกรอบ EU เกาหลีใต้ ภูฏาน และอาเซียน-แคนาดา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดแผนทำงานช่วงครึ่งหลังปี 67 เร่งสรุปผลการเจรจา FTA ไทย-EFTA ภายในปีนี้ ลุยเจรจากับ EU เกาหลีใต้ ภูฏาน และอาเซียน-แคนาดา เตรียมแผนสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับ UK และ EAEU กรุยทางจัดทำ FTA ในอนาคต พร้อมใช้เวที JTC ถกแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า

น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) และการประชุมระหว่างประเทศ ในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ว่า กรมได้มุ่งการเจรจาเชิงรุกเพื่อเร่งรัดหาข้อสรุป FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) และผลักดัน FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจา อาทิ ไทย-สหภาพยุโรป (EU) อาเซียน-แคนาดา และ FTA 2 ฉบับใหม่ คือ ไทย-เกาหลีใต้ และไทย-ภูฏาน รวมทั้งผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลและนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับการเจรจาจัดทำ FTA เพื่อเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ ๆ และขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยในตลาดโลก

ทั้งนี้ กรมได้เร่งเดินหน้าการเจรจา FTA ไทย-EFTA โดยตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปี 2567 ซึ่งหากเป็นไปตามเป้าหมายจะถือเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับประเทศในทวีปยุโรป ส่วนการเจรจา FTA ไทย-EU และอาเซียน-แคนาดา กรมได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันให้การเจรจามีความคืบหน้าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไทย โดยจะมีการหารือ FTA ทั้งสองฉบับนี้อย่างเข้มข้น เพื่อเร่งหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้มากที่สุด

“การเจรจา FTA กับกลุ่มประเทศ EU และ EFTA ถือว่ามีความท้าทายมาก เนื่องจากมีประเด็นใหม่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน แต่หากสามารถสรุปผลการเจรจาได้จะเป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยที่จะขยายการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศยุโรปได้มากขึ้น”

นอกจากนี้ ไทยจะผลักดันการเจรจายกระดับความตกลงที่มีอยู่เดิม เพื่อให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับรูปแบบการค้าในปัจจุบัน และช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย อาทิ ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย และไทย-เปรู รวมทั้งอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซึ่งได้เจรจายกระดับเสร็จแล้ว ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ สำหรับ FTA ฉบับที่ 15 ของไทย คือ FTA ไทย-ศรีลังกา ได้ลงนามความตกลงไปเมื่อเดือน ก.พ.2567 และคาดว่าจะมีผลใช้บังคับภายในปีนี้

น.ส.โชติมากล่าวว่า เสริมว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง กรมยังมีแผนใช้เวทีการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ มาเลเซีย บังกลาเทศ และจีน เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า และกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งไทยยังมีแผนจะหารือกับสหราชอาณาจักร (UK) และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) เพื่อจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำ FTA ร่วมกันในอนาคต

ในช่วง 5 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) การค้าของไทยกับ 18 ประเทศคู่ค้า FTA มีมูลค่า 145.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.1% โดยไทยส่งออกไปประเทศคู่ค้า FTA มูลค่า 70.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 2.4% และไทยนำเข้าจากประเทศคู่ค้า FTA มูลค่า 74.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 2% สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทย อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า


กำลังโหลดความคิดเห็น