xs
xsm
sm
md
lg

"สุริยะ" ลั่นปราบส่วยสติกเกอร์ลุยตั้งด่านเพิ่ม สกัดรถน้ำหนักเกินแก้ถนนพังเร็ว-ลดงบซ่อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สุริยะ" ย้ำห้ามมีส่วยสติกเกอร์เด็ดขาด ปราบรถบรรทุกน้ำหนักเกินเข้มงวดถนนทุกสาย ลุยเพิ่มด่านชั่ง ทล.-ทช.ใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการ-เล็งเพิ่มบทลงโทษ ลดเสี่ยงอุบัติเหตุ-ลดงบซ่อม ชี้ 9 เดือนยอดจับกุมลดจากปีก่อน เผย 10 จังหวัดร้องเรียน-ถูกจับกุม "อยุธยา" มากสุด ตามด้วยโคราช และขอนแก่น

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ไปดำเนินการจัดการ และแก้ไขปัญหารถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด เนื่องจากส่งผลกระทบหลายด้านในการคมนาคมทางถนน เช่น ทำให้ถนนได้รับการชำรุดเสียหาย และเสี่ยงที่จะเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น

ในส่วนของ ทล.มอบหมายให้เร่งบริหารจัดการตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินบนโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศอย่างเข้มงวด โดยใช้เทคโนโลยีระบบตรวจวัดสามมิติ (3D Measurement System) ร่วมกับด่านชั่งน้ำหนักรถบรรทุกในขณะรถวิ่ง (Weight in Motion : WIM) พร้อมทั้งระบบกล้องถ่ายป้ายทะเบียน (LPR)

ปัจจุบัน ทล.ได้ติดตั้งระบบ WIM และ LPR แล้ว 192 แห่ง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 16 แห่ง และต้องการเพิ่มเติมอีก 752 แห่ง ตามเป้าหมายที่จะติดตั้งให้ครบ 960 แห่ง ครอบคลุมโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีสถานีตรวจสอบน้ำหนักและจุดจอดพักรถบรรทุกรวมจำนวน 103 สถานี รวมถึงหน่วยชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) จำนวน 106 ชุด และมีแผนจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงาน ขณะเดียวกัน ยังให้ ทล.เร่งศึกษาและพิจารณาถึงการแก้ไขข้อกฎหมาย เพื่อกำหนดให้บทลงโทษหนักขึ้น พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อให้ทุกกระบวนการมีประสิทธิภาพสูงสุด

ทล.ได้รายงานว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้พบการกระทำความผิดบรรทุกน้ำหนักเกินลดลงอย่างชัดเจน โดยจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566-19 มิถุนายน 2567 มียอดจับกุมผู้กระทำผิดไปแล้วจำนวน 2,107 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการจับกุมได้ 2,659 คัน ส่วนตลอดทั้งปี 2566 มีผู้กระทำความผิดจำนวน 3,416 คัน ลดลงจากปี 2565 ที่มีผู้กระทำความผิดจำนวน 3,488 คัน

“ผมขอย้ำว่าในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะต้องไม่มีการทุจริต หรือมีส่วยสติกเกอร์ทางหลวงเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด และการกระทำความผิดจะต้องลดลงอย่างต่อเนื่อง” 


@เผย 10 จังหวัดร้องเรียน-ถูกจับกุม "อยุธยา" มากสุด ตามด้วยโคราช และขอนแก่น

นอกจากนี้ ทล.ยังได้รายงานถึงการวิเคราะห์ข้อมูลในพื้นที่ที่มีพฤติกรรมความเสี่ยงของการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด เพื่อใช้สำหรับเข้าลงพื้นที่ในการตรวจสอบ โดยเป็นการนำข้อมูลจากการร้องเรียน การจับกุม และแหล่งวัสดุมาใช้ในการวิเคราะห์ พบว่า 10 จังหวัดที่พบการกระทำผิดมากสุด ได้แก่ 1. พระนครศรีอยุธยา 2. นครราชสีมา 3. ขอนแก่น 4. ชลบุรี 5. กรุงเทพมหานคร 6. สมุทรปราการ 7. นครสวรรค์ 8. อุบลราชธานี 9. สระบุรี และ 10. ฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้ จากการดำเนินการตามแผนดังกล่าวนั้น พบว่าสามารถวางแผนจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณได้อย่างเหมาะสมด้วย อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิด สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1586 กด 5 หรือเจ้าหน้าที่สายด่วน 09-3377-0834 ตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วน ทช.นั้น มอบหมายให้เข้มงวดตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยจากการรายงานของ ทช.ระบุว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนัก แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ด่านชั่งน้ำหนักถาวร (Weigh Station) มีจำนวน 5 แห่ง 2. ด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) มี 92 หน่วย และ 3. ด่านชั่งน้ำหนักยานพาหนะขณะเคลื่อนที่ (WIM) มีทั้งหมด 19 จุดทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ จากผลการกำกับน้ำหนักยานพาหนะประจำปี 2567 พบว่า ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566-23 มิถุนายน 2567 มีรถบรรทุกเข้าชั่งน้ำหนัก ณ ด่านชั่งน้ำหนักถาวร จำนวน 267,720 คัน, รถบรรทุกชั่งน้ำหนัก Spot check จำนวน 55,231 คัน ซึ่งจากจำนวนดังกล่าวสามารถจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และดำเนินคดีแล้ว 7 คัน ขณะที่ตลอดทั้งปี 2566 มีการจับกุมดำเนินคดีไป 9 คัน อย่างไรก็ตาม ทช.ยังคงดำเนินการอย่างเข้มงวดเพื่อให้การกระทำผิดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สอดรับกับนโยบายเพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทางของผู้ใช้ทาง และลดภาระงบประมาณในส่วนของค่าซ่อมบำรุงทางด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น