xs
xsm
sm
md
lg

อนุกมธ.แก้ปัญหาขนส่งทางบก ชงรายงานสภาฯ เพิ่มโทษน้ำหนักบรรทุก เชื่อกระจายอำนาจท้องถิ่นแก้ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อนุรัตน์“ ปธ.อนุกมธ.แก้ปัญหาขนส่งทางบก เสนอรายงานต่อสภาฯ ชง เพิ่มอัตราโทษควบคุมน้ำหนักบรรทุก เชื่อ กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจะแก้ปัญหาได้

วันนี้ (29ก.พ.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีวาระพิจารณา รายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการขนส่งทางบกและป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ กำลังพิจารณา ซึ่งคณะกรรมาธิการการคมนาคมพิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายอนุรัตน์ ตันบรรจง สส.พะเยา เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาทางกฎหมาย ที่เกี่ยวกับการขนส่งทางบกและป้องกันการเรียกรับผลประโยชน์โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงผลการศึกษาแนวทางการบังคับใช้และสภาพปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบก ในประเด็นสภาพปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบจากเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับควบคุมทางหลวงว่า

จากการศึกษาพบว่า หน่วยงานสำคัญที่บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบก ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบทกองบังคับการตำรวจทางหลวง มีสภาพปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายสำคัญในการควบคุมน้ำหนัก
บรรทุก ที่กำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ได้บังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2559 ส่งผลให้ปัจจุบันอัตราโทษดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คือ อัตราโทษดังกล่าวไม่สามารถป้องกันการบรรทุกน้ำหนักเกินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การบรรทุกน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม หรือการบรรทุกน้ำหนักเกิน 10,000 กิโลกรัม ย่อมถูกปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตามระวางโทษ

นายอนุรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่งผลให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว จึงมีการกระทำผิดจำนวนมาก และยอมจ่ายผลประโยชน์โดยผิดกฎหมายให้แก่เจ้าหน้าที่เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง โดยการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่า นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สำคัญในการควบคุมน้ำหนัก คือ สคน. ยังมีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอด้วย ทางกรรมาธิการ จึงมีข้อเสนอหลายข้อ อาทิ ให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท แก้ไขเพิ่มเติมคำขอท้ายบันทึกการจับกุม(แบบ สน. 1/1) โดยระบุให้ พนักงานสอบสวนตรวจสอบพฤติการณ์เพิ่มเติมของผู้ต้องหาในข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าจ้างขนส่ง ผู้ประกอบการขนส่งหรือเจ้าของรถ

เสนอให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบรรทุกน้ำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยกำหนดโทษในการเอาผิดผู้ว่าจ้างขนส่ง ผู้ประกอบการขนส่งหรือเจ้าของรถ รวมถึงเสนอให้กรมทางหลวงเร่งดำเนินการสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งหน่วยงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะให้เป็นกองควบคุมน้ำหนักยานพาหนะตามกฎกระทรวง และเสนอให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม เสนอแก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานทางหลวง ตามมาตรา 80 ให้สูงขึ้น

นายอนุรัตน์ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาพบว่า สภาพปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบจาก
เจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับควบคุมทางหลวงเกิดจากการใช้ดุลพินิจโดยทุจริต ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บางราย นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาในการสอบสวนขยายผลเพื่อดำเนินคดีได้ยาก เนื่องจากมีสาเหตุ เช่น เกิดจากความสมัครใจของผู้ให้และผู้รับโดยการให้ผลประโยชน์จะเริ่มตั้งแต่การให้หรือเรียกรับผลประโยชน์เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกเท่านั้นไปจนถึงการให้ผลประโยชน์เพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกดำเนินคดีหากกระทำผิด รวมถึงลักษณะความผิดเป็นการกระทำผิดร่วมกันทั้งผู้ให้สินบนและผู้รับสินบนซึ่งการตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อขยายผลทำได้ยาก เพราะส่วนใหญ่จะใช้เงินสดและให้ผู้อื่นเปิดบัญชีแทน

จากปัญหาดังกล่าว คณะกรรมาธิการได้มีข้อเสนอหลายข้อ เช่น เสนอให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม จัดสรรงบประมาณให้แก่กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เพื่อจัดซื้อระบบอิเล็กทรอนิกส์ตรวจวัดน้ำหนักรถบรรทุกขณะรถวิ่ง (Weight In Motion) หรือระบบ WIM มาสนับสนุน ซึ่งปัจจุบันถนนในประเทศไทยมีระยะทางประมาณ 7แสนกิโลเมตร โดยกรมทางหลวงมีระบบ WIM จำนวน 18 แห่งกรมทางหลวงชนบท หากต้องการติดตั้งระบบ WIM ทุกช่องจราจรพร้อมอุปกรณ์ส่วนควบทั่วประเทศ กรมทางหลวงจะใช้งบประมาณ 25,000 ล้านบาท

รวมถึงเสนอให้กรมการขนส่งทางบก โดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางอาศัย
อำนาจตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 32 (2)" แก้ไขโดยเพิ่มหลักเกณฑ์รายละเอียดในการแจ้งน้ำหนักบรรทุกเพิ่มเติมนอกจากใบกำกับการขนส่ง คือ กำหนดให้มี "ใบรับรองการซั่งน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ต้นทาง" และขอความร่วมมือให้มี "ป้ายระบุแจ้งน้ำหนักที่บรรทุกสุทธิขณะเดินรถบนทางหลวง" โดยให้ติดในตำแหน่ง ข้างตัวรถที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ทั้งนี้ การชั่งและระบุน้ำหนักควรใช้เครื่องชั่งที่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐานจากสำนักงานชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์

“ วันนี้ถ้าจะแก้ไขให้ได้จริงจัง เราต้องทำการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ต้องให้อำนาจการจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างเป็นรูปธรรม และให้เครื่องมือในการจับกุม ซึ่งผมเชื่อว่าการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินในครั้งนี้ เรามีการเพิ่มโทษในมาตรา 73 / 2 จากเดิมปรับไม่เกิน 1 บาทจำคุกไม่เกินหกเดือน เราได้มีการเพิ่มโทษนะครับโดยจะเพิ่มโทษในพระราชบัญญัติของกรมทาง ที่จะทำให้ปัญหาลดน้อยลงได้“นายอนุรัตน์ กล่าว

จากนั้นที่ประชุมมีมติ เห็นชอบกับรายงานและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ตามข้อบังคับ ข้อ 104 และ105 ประกอบข้อ 88 เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น