xs
xsm
sm
md
lg

กรมรางตรวจไซต์ก่อสร้าง "สีม่วงใต้" ขุดเจาะใต้ดินเกือบ 200 เมตร หารือกรมศิลป์รื้อย้ายโบราณสถาน สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ต้องเวนคืนเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมรางตรวจไซต์ก่อสร้าง "สีม่วงใต้" สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ เดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ทางวิ่งใต้ดินแล้ว เกือบ 200 เมตร สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ต้องเวนคืนเพิ่ม รื้อย้ายโบราณสถานตามแนวทางกรมศิลป์ ภาพรวมคืบหน้า 33.82% คาดเปิดบริการปี 71

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2567 นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) พร้อมด้วยนายเรืองเดช มังกรเดชสกุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน และเจ้าหน้าที่ ขร.ร่วมลงพื้นที่ติดตามงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) หรือสายสีม่วงใต้ เพื่อติดตามความคืบหน้างานก่อสร้างการขุดเจาะอุโมงค์ การบริหารจัดการจราจรบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง มาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมาตรการป้องกันอุบัติเหตุจากการก่อสร้าง


โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้นี้มีระยะทางรวม 23.6 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี แบ่งเป็น
1. โครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน ระยะทาง 13.6 กิโลเมตร สถานีใต้ดิน 10 สถานี ได้แก่ สถานีรัฐสภา สถานีศรีย่าน สถานีวชิรพยาบาล สถานีหอสมุดแห่งชาติ สถานีบางขุนพรหม สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานีสามยอด สถานีสะพานพุทธ สถานีวงเวียนใหญ่ สถานีสำเหร่
2. โครงสร้างทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 10 กิโลเมตร สถานียกระดับ 7 สถานี ได้แก่ สถานีดาวคะนอง สถานีบางปะแก้ว สถานีบางปะกอก สถานีประชาอุทิศ สถานีราษฎร์บูรณะ สถานีพระประแดง และ สถานีครุใน

โดยสามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ประกอบด้วย
1. สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เชื่อมต่อสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์)
2. สถานีสามยอด เชื่อมต่อสถานีสามยอดของสายสีน้ำเงิน (ช่วงหัวลำโพง-บางแค (หลักสอง))
3. สถานีวงเวียนใหญ่ เชื่อมกับสถานีวงเวียนใหญ่ของสายสีเขียว (ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า) และสถานีวงเวียนใหญ่ของรถไฟทางไกลสายแม่กลอง รวมทั้งมีอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) 2 แห่ง ที่สถานีบางปะกอกและสถานีราษฎร์บูรณะ สามารถรองรับได้ประมาณ 1,700 คัน


สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ขร.ได้มีการติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้าง ณ จุดต่างๆ ได้แก่ บริเวณกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานีสามยอด สถานีโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า และสถานีพระประแดง โดยปัจจุบันมีความคืบหน้างานโยธาในภาพรวม ณ เดือนพฤษภาคม 2567 คิดเป็นร้อยละ 33.82 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงปี พ.ศ. 2571
โดยแบ่งออกเป็น 6 สัญญา ดังนี้

1. สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง 4.87 กม. ความคืบหน้าร้อยละ 45.38
2. สัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้าฯ ระยะทาง 2.34 กม. ความคืบหน้าร้อยละ 40.88
3. สัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้าฯ-สะพานพุทธ ระยะทาง 3.12 กม. ความคืบหน้าร้อยละ 30.75
4. สัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ-ดาวคะนอง ระยะทาง 4.12 กม. ความคืบหน้าร้อยละ 32.83
5. สัญญาที่ 5 ช่วงดาวคะนอง-ครุใน ระยะทาง 9.34 กม. ความคืบหน้าร้อยละ 14.88
6. สัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ ความคืบหน้าร้อยละ 21.78


สำหรับการก่อสร้างที่สำคัญได้แก่ การขุดเจาะอุโมงค์ทางวิ่งใต้ดินของสัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ โดยใช้หัวเจาะ 3 หัว ปัจจุบันหัวเจาะที่ 1 เป็นหัวเจาะอุโมงค์ทางวิ่ง เริ่มจากตำแหน่ง Cut & Cover ไปถึงสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระยะทางประมาณ 6 กม. เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2567 ปัจจุบันขุดเจาะได้แล้ว 180 เมตร หัวเจาะที่ 2 เป็นหัวเจาะอุโมงค์ทางวิ่ง เริ่มจากตำแหน่ง Cut & Cover ไปถึงสถานีหอสมุดแห่งชาติ ระยะทางประมาณ 4 กม. เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2567 ปัจจุบันขุดเจาะได้แล้ว 2 เมตร และหัวเจาะที่ 3 เริ่มจากสถานีหอสมุดแห่งชาติ ไปยังสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระยะทางประมาณ 2 กม. โดย ขร.ได้กำชับให้ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผน และคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ


การก่อสร้างสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยร่วมกับการอนุรักษ์โบราณสถาน ตึก 2 ชั้น 7 คูหา โดยปัจจุบันได้ข้อสรุปแนวทางการก่อสร้างโดยไม่ต้องเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม สำหรับการรื้อย้ายโบราณสถาน จะดำเนินการตามแนวทางที่ได้หารือกับกรมศิลปากร โดยตัดชิ้นส่วนโบราณสถานและรื้อย้ายออกเพื่อดำเนินการก่อสร้าง จากนั้นจึงนำชิ้นส่วนมาประกอบคืนสภาพเดิม โดย ขร.ได้เสนอให้ รฟม.เร่งเสนอกรมศิลปากรเพื่อพิจารณารายละเอียดการอนุรักษ์ วิธีรื้อถอนและจัดเก็บชิ้นส่วนโบราณสถาน และติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การก่อสร้างสามารถดำเนินต่อไปได้


นอกจากนั้น ยังได้ติดตามประเด็นปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณอำเภอพระประแดง โดยเฉพาะบริเวณตลาดครุใน ซึ่งผู้รับจ้างได้ปิดช่องทางจราจรในช่องริมเกาะกลางทั้งสองฝั่ง ฝั่งละ 1 ช่องจราจร ทำให้คงเหลือช่องจราจรฝั่งละ 3 ช่อง ประกอบกับช่องจราจรริมทางเดินเท้า ฝั่งหน้าตลาดครุใน มักมีพาหนะ วินมอเตอร์ไซค์ และรถเข็นขายของ จอดกีดขวางช่องจราจร ทำให้การจราจรเป็นคอขวดและติดขัด

โดย รฟม.ได้ประสานขอความร่วมมือจาก สภ.พื้นที่ในการกวดขันวินัยจราจร ซึ่งทาง สภ.พระประแดงได้ให้ความร่วมมือโดยมีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจจราจร ตลอดแนวเส้นทางก่อสร้างบริเวณอำเภอพระประแดง ตั้งแต่ช่วง 05.30 น. จนกว่าสถานการณ์รถติดจะบรรเทา ทั้งนี้ สภ.พระประแดงได้ขอให้ รฟม.จัดทำป้ายเตือนห้ามจอดเพิ่มเติมในรูปแบบเชิงถาวร เพื่อให้ผู้ที่สัญจรไปมาเกิดความตระหนักในวินัยจราจรมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น