xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอเผย “ซีพี” ยื่นขอสิทธิประโยชน์ใหม่ 1.6 แสนล้าน พร้อมเจรจาหลัง ครม.ไฟเขียวแก้สัญญา "ไฮสปีด"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บีโอไอเผย “ซีพี” ยื่นขอสิทธิประโยชน์ "ไฮสปีด" รอบใหม่ วงเงิน 1.6 แสนล้านบาท พร้อมพิจารณาหลังบอร์ด กพอ.และครม.ไฟเขียวแก้สัญญาร่วมทุนฯ คาดไม่เกินสิ้นปีนี้

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วตัวแทนจาก บจ.เอเชีย เอรา วัน (ซี.พี.) ได้เข้าพบเพื่อขอยื่นขอส่งเสริมการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) อีกครั้ง วงเงินลงทุน 160,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ บีโอไอได้แจ้ง ซี.พี.ว่า สำหรับการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนโครงการฯ ของ ซี.พี. ในรอบนี้ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้พิจารณาตัดเงื่อนไขการขอรับส่งเสริมการลงทุนออกไปแล้ว ซึ่งถือเป็นการแก้ไขสัญญาของโครงการด้วย ดังนั้น บีโอไอจึงขอให้กระบวนการแก้ไขสัญญาผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ดอีอีซี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เรียบร้อยก่อนจึงค่อยยื่นเอกสารขอส่งเสริมการลงทุนอีกครั้ง ซึ่งทาง ซี.พี.ไม่ขัดข้องอะไร

เลขาฯ บีโอไอกล่าวว่า คาดว่าการพิจารณาสิทธิประโยชน์ในรอบใหม่นี้จะใช้เวลาไม่นาน ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ เพราะครั้งนี้ไม่มีเงื่อนไขในสัญญามาบีบคั้นแล้ว สามารถพิจารณาได้ หรือแม้จะไม่ทันไปจนเริ่มก่อสร้างไปแล้ว ก็ไม่เป็นปัญหาเพราะยังให้สิทธิประโยชน์ได้

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ล่าสุด ที่ประชุม บอร์ด กพอ.เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2567 ได้รับทราบความก้าวหน้าโครงการ และอีก 3 โครงการร่วมลงทุน รัฐ-เอกชน (PPP) โครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่อีอีซี โดยรายละเอียดเรื่องหลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น ให้นำเสนอในการประชุม กพอ.ครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นช่วงปลายเดือน มิ.ย.หรือต้นเดือน ก.ค. 2567

ซึ่งรายละเอียดประกอบด้วย การแก้ไขวิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ (PIC) วงเงิน 119,425 ล้านบาท โดยรัฐจะเริ่มลงทุนเร็วขึ้นตามระยะเวลาความแล้วเสร็จของงาน และเอกชนตกลงวางหลักประกัน (Bank Guarantee) เต็มจำนวน ค่าก่อสร้าง และการแก้ไขวิธีการชำระค่าสิทธิ วงเงินประมาณ 130,000 ล้านบาท และโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) เอกชนแบ่งชำระ 7 งวด โดย รฟท.ยังคงได้รับ ค่าสิทธิครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เอกชนรับภาระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายทางการเงินส่วนที่เกินทั้งสิ้นนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น