xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันอัญมณีฯ ภาครัฐ เอกชน ผนึกกำลังดันจันทบุรีเป็น “ศูนย์กลางการค้าพลอยก้อนโลก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันอัญมณีฯ ผนึกกำลังพาณิชย์จังหวัดจันทบุรี ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ดันจันทบุรีเป็น “ศูนย์กลางการค้าพลอยก้อนโลก” เตรียมจัดตลาดนัดพลอยก้อนช่วง ก.ค.-ส.ค.นี้ ดึงผู้ซื้อขายจากทั่วโลกเข้ามา มั่นใจช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และทำให้ศักยภาพในการหุงพลอย เจียระไนพลอยของไทยยังคงอยู่ เผยยังจะเข้าไปช่วยพัฒนาคนและวางมาตรฐาน เพื่อสร้างการยอมรับในระดับสากล

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับพาณิชย์จังหวัดจันทบุรี ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ได้มีการพิจารณาการส่งเสริมให้จังหวัดจันทบุรีเป็นศูนย์กลางการค้าพลอยก้อนโลก (World Gemstone Trade Center) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีโอกาสเข้าถึงพลอยก้อนที่เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการเจียระไน การปรับปรุงคุณภาพและการส่งออก โดยกำหนดจัดงานตลาดนัดพลอยก้อนขึ้น ณ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรีในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2567

“ปัจจุบันแหล่งวัตถุเหมืองพลอยในจังหวัดจันทบุรีลดลง เหลืออยู่เป็นจำนวนไม่มากนัก ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบ แต่ด้วยศักยภาพของไทยในด้านการเจียระไน การหุงพลอย ทำให้ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก จังหวัดจันทบุรีและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ค้าพลอย ผู้ส่งออก และ GIT เห็นตรงกันว่าจะต้องผลักดันให้จังหวัดจันทบุรีเป็นศูนย์กลางการค้าพลอยก้อนโลก เพื่อดึงให้พ่อค้าพลอยจากทั่วโลกเข้ามาซื้อขาย และยังจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบ และช่วยผลักดันเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีโลกด้วย”

นายสุเมธกล่าวว่า การผลักดันศูนย์กลางการค้าพลอยก้อนโลก GIT จะเข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ และสร้างมาตรฐานพลอย ทั้งพลอยดิบ พลอยก้อน และพลอยเจียระไน เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือและจัดตั้งคณะมาตรฐานการตรวจสอบ โดยมีพาณิชย์จังหวัดจันทบุรีเป็นประธาน มี GIT และสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี สมาคมผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินการวางแผนการดำเนินงาน คาดว่าจะสามารถลงพื้นที่ไปพัฒนาและสร้างมาตรฐานให้กับตลาดพลอยในจังหวัดจันทบุรีได้ในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ ในส่วนของการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและมาตรฐานต่างๆ GIT จะเข้าไปเป็นที่ปรึกษา และเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ เด็กเดินพลอย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยจะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ ความสามารถ ทั้งในด้านทฤษฎี ด้านเทคนิค และกระบวนการปรับปรุงคุณภาพพลอยต่าง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบ GIT Standard ที่เป็นมาตรฐานหลักของประเทศไทย และสนับสนุนให้ห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า ทั้งในสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนในจังหวัดจันทบุรีนำมาตรฐาน GIT Standard ไปใช้เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ผ่านใบรายงานการตรวจสอบที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้


กำลังโหลดความคิดเห็น