xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ”ชวนนักธุรกิจยุโรปลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์”คมนาคม”ไทย ผลักดันแผนฮับภูมิภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” ร่วมงานเลี้ยงรับรองการประชุม Thai – European Business Association : TEBA ชวนนักธุรกิจยุโรปลงทุนในไทย ตอกย้ำการเป็นพันธมิตร หวังดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม ยู สาทร กรุงเทพฯ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเปิดงานเลี้ยงรับรองการประชุม Thai - European Business Association : TEBA พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม โดยมี นายปิแอร์ จาร์ฟ (Mr. Pierre Jaffre) ประธานสมาคมการค้าไทย - ยุโรป (Thai - European Business Association : TEBA) ให้การต้อนรับ

นายสุริยะ กล่าวว่า สมาคมการค้าไทย - ยุโรป (TEBA) เป็นพันธมิตรที่สำคัญในอุตสาหกรรมทุกภาคส่วนของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ ตนรู้สึกขอบคุณที่ยุโรปช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์และการบินผ่านการนำมาตรฐาน กฎ ระเบียบสากล และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถวางตัวเป็นผู้นำด้านคมนาคมและขนส่งในเวทีโลกตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี “Thailand Vision 2030 on IGNITE THAILAND” ตามเป้าหมายในการยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคใน 8 มิติ ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ อาหาร การบิน การขนส่ง การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน


สำหรับโครงการสำคัญที่ภาคเอกชนของยุโรปสามารถมีส่วนร่วมและร่วมมือกับไทยในฐานะพันธมิตรและนักลงทุน ได้แก่ 1.การเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ที่ภูเก็ตและพัทยา รวมทั้งสร้างอาคารรองรับผู้โดยสารที่เดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันการท่องเที่ยวแบบหรูหราผ่านการบินและเรือสำราญ

2. การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค โดยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานเดิม และพัฒนาท่าอากาศยานแห่งใหม่ ได้แก่ สนามบินล้านนาในภาคเหนือ และสนามบินอันดามันในภาคใต้ การให้บริการอากาศยานทางทะเล (Seaplane) และแท็กซี่อากาศ (Air Taxi) มาปรับใช้ในพื้นที่ท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมการบินให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการจัดหาระบบ MROs


3.โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการเชื่อมทะเลอ่าวไทย - อันดามัน ที่จะยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือ นอกเหนือจากช่องแคบมะละกา ที่ผ่านมาได้มีโอกาสนำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ในหลายประเทศ ซึ่งมีนักลงทุนจำนวนมากให้ความสนใจ นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ซึ่งหวังว่าจะมีนักลงทุนจากยุโรปร่วมลงทุนในโครงการนี้

4.การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญด้านการคมนาคมสีเขียว (Green transport) ด้วยการมุ่งเน้นไปที่นโยบายด้านยานยนต์ไฟฟ้า กระทรวงคมนาคมได้ร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ อาทิ TEBA รัฐบาลต่างชาติ และภาคเอกชนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เข้มแข็งขึ้น


นายสุริยะ กล่าวว่า การเป็นพันธมิตรกับภาคเอกชนของยุโรปมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นผู้เล่นสำคัญในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก กว่าที่ผ่านมา ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและยุโรปจะสามารถผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคได้ รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น