ผู้จัดการรายวัน 360 – ซีอาร์จี เผยตลาดคิวเอสอาร์ปีนี้มีแววโตน้อยกว่าปีที่แล้ว วางหมากลุยตลาดไก่ทอด 2 หมื่นล้านบาท เปิดแผนลุย เคเอฟซี ทุ่มงบ 400 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่อง ซุ่มผุดโมเดลใหม่บนรถไฟฟ้า พร้อมเร่งเครื่องขยายเมืองรอง ปรับสาขาเดิมให้เป็นดิจิทัลมากขึ้น
นายปิยะพงศ์ จิตต์จำนงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส QSR & Western Cuisine ผู้บริหารแบรนด์ เคเอฟซี ภายใต้การบริหารโดย บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2567 นี้คาดว่าตลาดรวมคิวเอสอาร์หรือตลาดบริการอาหารจานด่วน (QSR / Quick Service Restaurante ) จะมีการเติบโตไม่มากประมาณ 3-5% จากมูลค่าตลาดรวมคิวเอสอาร์ประมาณ 45,000 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่เติบโตมากกว่านี้ เนื่องจากปีนี้แบรนด์อื่นทั่วไปจะขยายสาขาไม่มากและภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่กระเตื้องเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเซกเมนต์ไก่ทอด ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดในคิวเอสอาร์ มูลค่ามากกว่า 21,000 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้คาดว่าจะยังเป็นตลาดที่มีความคึกคักและเติบโตมากประมาณ 5%-6% แม้จะน้อยกว่าช่วงก่อนหน้านี้ที่โต 10% แต่ปีนี้ก็โตมากกว่าปีที่แล้วที่โตเพียง 3% เท่านั้น ซึ่งการเติบโตนั้นมาจากแบรนด์เคเอฟซีที่เป็นแบรนด์หลักมีการขยายตัวต่อเนื่องจากทั้งสามรายที่ถือสิทธิ์เคเอฟซีในไทย โดยเคเอฟซีของซีอาร์จี มียอดขายรวมมากกว่า 7,050 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว และเคเอฟซีเป็นสัดส่วนรายได้หลักมากกว่า 50% ของรายได้รวมซีอาร์จี
นายปิยะพงศ์ กล่าวว่า ปีนี้ เคเอฟซีของซีอาร์จี ตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขายรวมเติบโต 8% ซึ่งเป็นการปรับลดลงมาจากเดิมก่อนหน้านี้ที่ประมาณไว้ช่วงต้นปี จะเติบโต 11% โดยปีนี้สาขาเดิมยอดขายอาจจะเติบโตเพียง 4% ลดลงจากปีที่แล้วที่สาขาเดิมยอดขายโต 6%
แผนปีนี้จะลงทุนไม่ต่ำกว่า300-400 ล้านบาท โดยจะเปิดใหม่ประมาณ 23 สาขา ที่เปิดแล้วเช่น เซ็นทรัลนครสวรรค์ เซ็นทรัลนครปฐม เป็นต้น ซึ่งปีที่แล้วเปิดใหม่ประมาณ 25 สาขา และเตรียมรีโนเวท 35 สาขา ปัจจุบันเคเอฟซีของซีอาร์จีมีประมาณ 338 สาขา
ล่าสุดคือ การรีโนเวทสาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวซึ่งเป็นสาขาแรกของเคเอฟซีในไทยคร บ 40 ปี ด้วยการตกแต่งร้านในคอนเซ็ปต์ “Colonel's Legacy” ในสไตล์ Retro ซึ่งเป็นที่นิยมในการแต่งร้านช่วงนั้น เป็นธีมหลักในการเล่าเรื่อง เช่น กระเบื้องสีขาวสลับสีแดง / แถบริ้วลายขาว-แดง หรือแม้แต่สายห้อยโทรศัพท์บ้านก็กลายมาเป็นกิมมิคเล็ก ๆ ของไฟห้อยตกแต่งร้านได้เช่นกัน
อีกทั้งปีนี้เคเอฟซีจะมีการเปิดตัวโมเดลใหม่เร็วๆนี้อีก เช่น แกร็บ แอนด์ โก โมเดลเป็นร้านขนาดเล็กที่เน้นการจำหน่ายในช่องทางเทคอะเวย์เป็นหลัก เพื่อการเข้าถีงลูกค้ามามากขึ้น เช่น สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือเอ็มอาร์ที และย่านชุมชนขนส่งต่างๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการ แต่จะมีเมนูไม่ครบเหมือนร้านปกติและอีกโมเดลที่ในปีนี้จะโฟกัสเป็นพิเศษ คือ คีออส โมเดล (Kiosk Model) ที่จะเน้นการเปลี่ยนประสบการณ์ของลูกค้าจากที่ต้องสั่งอาหารที่หน้าเคาน์เตอร์ให้เป็นการสั่งผ่านตู้คีออสแทน ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าได้อย่างอิสระมากขึ้น
นอกจากนั้นจะขยายสาขาเข้าไปในระดับเมืองรองมากขึ้น ซึ่งเริ่มปีที่แล้ว ขณะนี้มีเปิดเมืองรองบ้างแล้ว เช่น ที่ปัญจคีรี ขอนแก่น, จอมบึง ราชบุรี, บุณทริก อุบลราชธานี, โพธิ์พิสัย หนองคาย เป็นต้น ทั้งนี้หากพิจารณาจากอัตราการเข้าถึงของผู้บริโภคประมาณได้ว่า เคเอฟซี 1 สาขา รองรับถึง 40,000- 50,000 คน จึงยังมีโอกาสในการขยายสาขาได้อีกมาก
ส่วนสาขาในอาคารพาณิชย์คงจะยังไม่ได้ขยายมากนัก เพราะขณะนี้สถานการณ์การนั่งทานในร้านกลับมาเป็นปกติแล้ว ทั้งนี้สัดส่วนรายได้หลักมาจากช่องทาง เทคอเวย์ สูงสุดที่ 40% รองลงมาคือ นั่งทานในร้าน 35% และดีลิเวอรี่ 25% โดยมีอัตราการใช้จ่ายต่อบิล 180 – 200 บาท ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณทรานส์แซคชั่นการเข้าร้านเพิ่มมากถึง 6% ส่วนสาขาที่มี เคเอฟซี คาเฟ่ บาย อริกาโตะ ขณะนี้มีประมาณ 230 สาขาแล้ว ยอดขายเครื่องดื่มมีสัดส่วน 7%
“สำหรับแคมเปญส่งเสริมการขายจะมีต่อเนื่องเช่นกัน ที่ไฮไลท์ในปีนี้ได้เปิดตัวโปรโมชั่น Bambam Box ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี ทำให้ยอดขายในแอพพลิเคชั่นเติบโตมากกว่า 10x อีกทั้ง ในช่วงต้นปีก็ได้มีการ relaunch โปรดักส์สุดฮิตอย่าง ป๊อปบอมบ์แซ่บ และไก่ใจเด็ด ไปแล้ว ในครึ่งปีหลังก็เตรียมที่จะมีโปรโมชั่นเด็ด ๆ ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ และประสบการณ์ของลูกค้าอย่างแน่นอน โดยนอกเหนือจากโปรโมชั่นที่เป็น Seasonal แล้ว ทาง เคเอฟซี ก็ยังเน้นการทำราคาให้สามารถเข้าถึงได้ในทุกระดับ โดยโปรโมชั่นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือเมนูข้าวที่ทำราคาเหลือ 59 บาทด้วยนั่นเอง” นายปิยะพงศ์ กล่าว
นายปิยะพงศ์ กล่าวให้ความเห็นด้วยว่า เรื่องของค่าแรงงานขั้นต่ำที่จะเพิ่มเร็วๆนี้ คงไม่กระทบกับเคเอฟซีซีอาร์จีมากนัก เนื่องจากทุกวันนี้่เราก็จ่ายค่าแรงค่าอื่นๆรวมมากกว่า 400 บาทอยู่แล้ว แต่ปัญหาใหญ่คือ เรื่องของการหาพนักงานบุคลากรมาทำงานรองรับการขยายตัวที่มากขึ้น เป็นเรื่องที่เป็นปัญหามากกว่า รวมทั้งปัญหาเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนดำเนินการต่างๆที่เพิ่มขึ้นเป็นปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กัน