xs
xsm
sm
md
lg

สบพ.ครบรอบ 63 ปี มุ่งยกระดับบุคลากรการบิน ลุยพัฒนาศูนย์ฝึกหัวหิน ขับเคลื่อนสู่การเป็น Aviation Hub

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันการบินพลเรือนครบรอบ 63 ปี “มนพร” ร่วมแสดงความยินดี ย้ำนโยบายยกระดับพัฒนาบุคลากรการบินเป็น 1 ใน 9 สถาบันฝึกอบรมด้านการบินระดับโลก ดันแผนศูนย์ฝึกการบินหัวหิน พร้อมขับเคลื่อนสู่การเป็น Aviation Hub

วันที่ 4 มิถุนายน 2567 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนาสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ครบรอบ 63 ปี พร้อมด้วย นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม พลเอก ดร.ดิเรก ดีประเสริฐ ประธานคณะกรรมการ สบพ.และคณะกรรมการ สบพ. โดยมี นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน คณะผู้บริหาร และพนักงาน สบพ. ให้การต้อนรับและร่วมพิธี ณ อาคารศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบิน สถาบันการบินพลเรือน กรุงเทพฯ โดยมีพิธีบวงสรวง สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสถาบันการบินพลเรือน และพิธีทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งมีคณะผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมแสดงความยินดีและบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนกิจกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์และสาธารณกุศล

นางมนพรกล่าวว่า สถาบันการบินพลเรือน เป็นหน่วยงานที่ผลิตและพัฒนาบุคลากรการบินให้หน่วยงานการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการรับรองจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ซึ่งในปีนี้ครบรอบ 63 ปี ถือเป็นอีกก้าวแห่งความสำเร็จสู่มาตรฐานการฝึกอบรมด้านการบินระดับโลก โดยจะยังคงเป็นสถาบันที่เพิ่มศักยภาพและคุณภาพในการผลิตบุคลากรด้านการบินที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของประเทศตามนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) ในภูมิภาค


ในปีนี้ สบพ.มีแผนพัฒนาศูนย์ฝึกการบินในโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์ฝึกการบินหัวหินและสิ่งก่อสร้างประกอบพร้อมครุภัณฑ์ งบประมาณกว่า 470 ล้านบาท โดยในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2568 วงเงินประมาณ 398.5 ล้านบาท ประกอบด้วย อาคารเรียนและฝึกอบรมที่มีความทันสมัย พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานสากล และจัดหาเฮลิคอปเตอร์เพื่อสนับสนุนสถาบันการบินพลเรือน รวมทั้งการปรับภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม

ในโอกาสนี้ นางมนพรได้มอบนโยบายให้ สบพ.เน้นการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการพัฒนาหลักสูตรและอุปกรณ์การเรียนการสอนให้ทันสมัย เพียงพอ เพื่อผลิตบุคลากรขึ้นมารองรับธุรกิจด้านการบินและธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยเป็น Aviation Hub ของภูมิภาคอาเซียน และปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อเฟื้อต่อการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ยังต้องสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการในมิติต่างๆ ต่อไป


ด้านนางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน กล่าวว่า สถาบันการบินพลเรือนได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2504 ตลอดระยะเวลา 63 ปี ที่ผ่านมา สบพ.ได้ผลิตและพัฒนาบุคลากรการบินให้กับหน่วยงานการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาหลักสูตร บริการต่างๆ และกิจกรรมอื่นเกี่ยวกับการบิน เพื่อประโยชน์ในการผลิตบุคลากร ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศในวิชาชีพด้านการบิน โดยมีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินของชาติและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”


ในปี 2567-2572 ได้แก่ โครงการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงรักษาอากาศยานสู่มาตรฐานการบินของ EASA โครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา โครงการเฮลิคอปเตอร์เครื่องยนต์เดียวสำหรับฝึกบิน และโครงการงานก่อสร้างอาคารศูนย์ฝึกการบินหัวหินและสิ่งก่อสร้างประกอบพร้อมครุภัณฑ์ โดย นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เล็งเห็นความสำคัญ และผลักดันให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณในเฟสแรก ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2568 ในวงเงินประมาณ 398.5 ล้านบาท เป็นอาคารเรียนและฝึกอบรมที่มีความทันสมัย นับเป็นของขวัญแก่ สบพ. ในการดำเนินภารกิจเพื่อประเทศชาติต่อไปอย่างเต็มศักยภาพ


ในปีที่ 63 นี้ สบพ.ได้รับการรับรองจากจาก ICAO ให้เป็นสมาชิกโครงการ ICAO TRAINAIR PLUS ระดับ Platinum ซึ่งเป็น 1 ใน 4 สถาบันฝึกอบรมในภูมิภาคเอเชีย และเป็น 1 ใน 9 สถาบันฝึกอบรมจากสมาชิกทั่วโลก ถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นแล้วว่า สบพ.พร้อมก้าวต่อไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบินให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เพียงพอต่อความต้องการของประเทศและภูมิภาค ให้สามารถรองรับการกลับมาของอุตสาหกรรมการบินที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต พร้อมสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความยั่งยืน




กำลังโหลดความคิดเห็น