บอร์ด รฟท.เคาะขยายเวลาก่อสร้างงานโยธารถไฟ "ไทย-จีน”" 2 สัญญาชดเชยเหตุส่งมอบพื้นที่ล่าช้า สัญญา 4-3 (นวนคร-บ้านโพ) อีก 163 วัน ไปสิ้นสุด ม.ค. 68 และสัญญา 4-4 (ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย) อีก 355 วัน ไปถึง ส.ค. 69 โดยผู้รับจ้างฯ ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายเพิ่ม
นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 ได้มีมติอนุมัติขยายเวลาทำการตามสัญญาและแก้ไขสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) จำนวน 2 สัญญาได้แก่ สัญญา 4-3 งานโยธาช่วง นวนคร-บ้านโพ และสัญญา 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย เพื่อชดเชยการส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างล่าช้า
รายงานข่าวแจ้งว่า สัญญา 4-3 งานโยธาช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 11,525 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า CAN (บจ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่นฯ, บจ.เอ.เอส.แอส โซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) และ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นผู้รับจ้าง ขอขยายเวลาสัญญาอีก 163 วัน จากที่ครบสัญญาก่อสร้างวันที่ 13 ส.ค. 2567 ไปสิ้นสุดวันที่ 23 ม.ค. 2568 โดย ณ เดือน เม.ย. 2567 มีผลงานสะสม 31.560% ล่าช้า 67.190% (แผนงาน 98.750%)
ทั้งนี้ ให้ปรับผังการเชื่อมประสานงานก่อสร้างให้สอดคล้องกับเงื่อนไขสัญญา โดยผู้รับจ้างฯ ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่าย หรือค่าทดแทน หรือสิทธิประโยชน์ใดๆ รวมถึงไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ของที่ปรึกษาควบคุมงานฯ (CSC) และที่ปรึกษาบริหารโครงการฯ (PMC) รวมทั้งการรถไฟฯ ไม่เสียประโยชน์และไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการอื่นๆ แต่อย่างใด
ส่วนสัญญา 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,573 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย เป็นผู้รับจ้าง ขอขยายเวลาสัญญาอีก 355 วัน จากที่ครบสัญญาก่อสร้างวันที่ 10 ก.ย. 2568 ไปสิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค. 2569 โดย ณ เดือน เม.ย. 2567 ผลงานสะสม 10.444% ล่าช้า 53.326% (แผนงาน 63.770%)
โดยให้ผู้รับจ้างจัดทำรายละเอียดแผนงานก่อสร้างและ Working Programme ให้สอดคล้องกับวันที่ได้รับการขยายระยะเวลาก่อสร้างเสนอตามขั้นตอนต่อไป โดยผู้รับจ้างฯ ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่าย หรือค่าทดแทน หรือสิทธิประโยชน์ใดๆ รวมถึงไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ของที่ปรึกษาควบคุมงานฯ (CSC) และที่ปรึกษาบริหารโครงการฯ (PMC) รวมทั้งการรถไฟฯ ไม่เสียประโยชน์และไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการอื่นๆ แต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ บอร์ด รฟท.ได้มีมติอนุมัติให้ขยายเวลาก่อสร้างงานโยธารถไฟไทย-จีน สัญญา 3-2 (อุโมงค์ มวกเหล็ก และลำตะคอง) ระยะทาง 12.23 กม. วงเงิน 4,279 ล้านบาท ออกไปอีก 431 วัน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 3 เม.ย. 2567 ไปสิ้นสุดวันที่ 7 มิ.ย. 2568 เนื่องจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าในส่วนของอุโมงค์คลองไผ่ บริเวณลำตะคอง โดยสัญญานี้มี บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นผู้ก่อสร้าง