xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงคมนาคมฟิลิปปินส์หารือไทย เตรียมลงพื้นที่ดูงานก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงคมนาคมไทย-ฟิลิปปินส์หารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเตรียมเยี่ยมชมโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน หวังประยุกต์ใช้กับโครงการก่อสร้างไฮสปีดเชื่อมกรุงมะนิลากับจังหวัด Sorsogon ในฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับจีน

วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ณ กระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ประชุมหารือกับ Mr. Jeremy Regino (นายเจเรมี เรจิโน) ปลัดกระทรวงคมนาคมสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (ด้านกิจการรถไฟ) Undersecretary for Railways, Department of Transportation (DoTr) และคณะ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารโครงการลงทุนระบบรางขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา - หนองคาย ในด้านสถานะโครงการฯ ความท้าทาย และแนวทางการปฏิบัติ โดยมีผู้แทนกรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุม


นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ กล่าวว่า คณะผู้แทนจากกระทรวงคมนาคม สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นำโดย Mr. Jeremy Regino ปลัดกระทรวงคมนาคม (ด้านกิจการรถไฟ) มีกำหนดพำนักในประเทศไทยระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2567 และมีกำหนดเยี่ยมชมสถานที่โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ในวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ประเทศฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างเตรียมการดำเนินโครงการ PNR South Long Haul Project (SLH) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระบบรางที่สำคัญเพื่อเชื่อมกรุงมะนิลากับจังหวัด Sorsogon โดยโครงการฯ มีบริษัท CRDC - WACC เป็นที่ปรึกษา ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง China Railway Design Corporation (CRDC) และ The Guangzhou Wanan Construction Supervision Co., Ltd. ทั้งนี้ CRDC เป็นหนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา ด้วยเช่นกัน

ในส่วนของการประชุมหารือ กระทรวงฯ ได้นำเสนอภาพรวมการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา - หนองคาย โครงสร้างของหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลโครงการเป็นอย่างไร และปัญหาที่พบในการดำเนินโครงการฯ โดยรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งไปสู่ระบบรางเพื่อให้ระบบรางเป็นโหมดการขนส่งหลักสำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ในอดีตเส้นทางเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นทางเดี่ยว ซึ่งจำกัดขีดความสามารถการขนส่ง กระทรวงฯ จึงได้วางแผนการสร้างรถไฟทางคู่ เมื่อแผนเสร็จสมบูรณ์ ภายในปี 2029 จะทำให้รถไฟทางคู่เพิ่มขึ้นเป็น 3,200 กิโลเมตรทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ขณะนี้มีหลายเส้นทางที่เสร็จสมบูรณ์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรืออยู่ในขั้นตอนการประมูล


สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา มีจุดเริ่มต้นจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ถึงสถานีนครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร ขณะนี้มีความก้าวหน้าภาพรวมที่ร้อยละ 33.52 แยกเป็น งานส่วนโยธา 14 สัญญา สามารถก่อสร้างเสร็จแล้ว 2 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และรอลงนาม 2 สัญญา

นอกจากนี้ ยังมีสัญญางานระบบอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา อยู่ระหว่างการออกแบบ กระทรวงฯ ได้เร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการโครงการต่าง ๆ ในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด ซึ่งคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ กล่าวว่า ในปี 2567 นี้ เป็นการครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ ซึ่งการประชุมหารือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ การพบปะและหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันจะนำไปสู่ความร่วมมือด้านระบบรางในอนาคตได้เป็นอย่างดี


กำลังโหลดความคิดเห็น