xs
xsm
sm
md
lg

เทรนด์รักษ์โลกมาแรง “พาณิชย์” ดัน SME ผลิตสินค้าเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ป้องตกขบวนกระแสโลก-เพิ่มโอกาสทำเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกหันมาใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว และตนเองได้รับผลกระทบในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น จึงต้องการมีส่วนร่วมในการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้เทรนด์การผลิตสินค้าของโลกมุ่งไปสู่การผลิตสินค้าแบบยั่งยืน และเทรนด์การบริโภคก็มีแนวโน้มบริโภคสินค้าที่มีความยั่งยืน หากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน หรือตามกระแสโลกไม่ทัน ก็อาจจะตกขบวนการค้าได้

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศ ได้เดินหน้าส่งเสริม สนับสนุน ผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก เพื่อให้การส่งออกสินค้าไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ถูกกีดกันทางการค้า จนเกิดอุปสรรคต่อการส่งออก ตามนโยบายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

การทำงานมีความคืบหน้า มีการกำหนดแผนงานและกิจกรรมสนับสนุนผู้ประกอบการไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง ความหวังที่จะผลักดันให้สินค้าของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมจะสำเร็จได้หรือไม่ สินค้าของไทยจะเติบโตในตลาดโลกได้หรือไม่ เรามาฟังคำตอบจาก “นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” กัน

สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคืออะไร
นายภูสิตอธิบายว่า สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หมายถึงสินค้าจากผู้ผลิตที่แสดงถึงมาตรฐานในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการการผลิต โดยสินค้า Eco Products มีการออกแบบผลิตภัณฑ์แบบยั่งยืน ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ไม่ก่อขยะหรือมลพิษให้กับโลก โดยส่วนใดส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์หรือทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยผ่านกระบวนการ 4R ได้แก่ Reduce (ลดการใช้) Reuse (การนำมาใช้ซ้ำ) Recycle (การนำกลับมาใช้ใหม่) Repair (การซ่อมบำรุง)

ยกตัวอย่างให้เห็น คือ สินค้ากลุ่ม Fast-Moving Consumer Goods ที่ผู้บริโภคใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถเข้าถึงได้ง่ายและเห็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม เช่น หลอดดูดน้ำย่อยสลายได้ ก้านสำลีที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้ อาหารเครื่องดื่มจากโปรตีนทางเลือก สินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน และรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น


เริ่มมีการใช้มาตรการกีดกันมากขึ้น

นายภูสิตกล่าวต่อว่า หลังจากกระแสให้ความสำคัญต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมขยายตัวสูงขึ้น หลายๆ ประเทศเริ่มกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น โดยจากฐานข้อมูล Environmental Database ขององค์การการค้าโลก (WTO) พบว่าช่วงปี 2009-2024 ประเทศที่มีการใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้า (Environmental Related Measures) มากที่สุด 10 อันดับแรก คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย จีน แคนาดา บราซิล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน นิวซีแลนด์ ซึ่งประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนรวมกันกว่า 55% ของการส่งออกของไทยไปโลก

โดยมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้าที่มีการนำมาใช้ ในส่วนของสหรัฐฯ พบว่าส่วนใหญ่ 26.9% เป็นกฎระเบียบทางเทคนิค 25.5% เป็นเงินช่วยเหลือโดยตรง (Grants and Direct Payment) 22.6% เป็นสิทธิพิเศษทางภาษี (Tax Concessions) โดยสาขาที่มีการใช้มาตรการมากที่สุด คือ พลังงาน 29% อุตสาหกรรมการผลิต 26.4% เกษตร 23.5%

สำหรับสหภาพยุโรป มาตรการที่ใช้ส่วนใหญ่ 55.8% เป็นเงินช่วยเหลือโดยตรง 26% เป็นกฎระเบียบทางเทคนิค โดยสาขาที่มีการใช้มาตรการมากที่สุด คือ เกษตร 25.3% เคมีภัณฑ์ 17.5% พลังงาน 16.5% ออสเตรเลีย มาตรการที่ใช้ส่วนใหญ่ 28.5% เป็นเงินช่วยเหลือโดยตรง 25% เป็นการสนับสนุนที่ไม่ใช่ตัวเงิน (Non-Monetary Support) โดยสาขาที่มีการใช้มาตรการมากที่สุด คือ เกษตร 60.7% จีน มาตรการที่ใช้ส่วนใหญ่ 35.1% เป็นเงินช่วยเหลือโดยตรง 33.8% เป็นกฎระเบียบทางเทคนิค โดยสาขาที่มีการใช้มาตรการมากที่สุด คือ การผลิต 43.7%

ส่วนไทย มีการใช้มาตรการรวม 231 มาตรการ ส่วนใหญ่ 50.2% เป็นกฎระเบียบทางเทคนิค ใบอนุญาตนำเข้า 19.9% โดยสาขาที่มีการใช้มาตรการมากที่สุด คือ การผลิต 50.6%

นอกจากนี้ จากรายงาน Carbon Pricing Dashboard ของธนาคารโลกล่าสุด ระบุว่า มีการใช้มาตรการราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Instruments) รวม 104 มาตรการ ใน 52 ประเทศทั่วโลก ประกอบด้วยมาตรการ Carbon Tax จำนวน 38 มาตรการ มาตรการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme - ETS) จำนวน 37 มาตรการ Government Crediting Mechanisms จำนวน 29 มาตรการ

ทั้งนี้ มาตราการ Carbon Pricing เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่หลายประเทศใช้ในการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป็นการกำหนดราคาคาร์บอน เพื่อทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนหรือมีราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งประกอบด้วย 3 กลไกหลัก คือ 1. ระบบซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) 2. ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และ 3. กลไกตลาด (Crediting Mechanisms)


ปัญหาและอุปสรรคที่พบ

นายภูสิตกล่าวว่า จากการที่โลกให้ความสำคัญต่อการค้าสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็เป็นโอกาสให้หลายประเทศนำมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ปกป้องการค้า หรือออกมาตรการกีดกันทางการค้าโดยใช้มาตรการสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น กรมจึงได้ทำแผนเพื่อพัฒนาผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทยให้ตามเทรนด์ของโลกได้ทัน และสามารถใช้ประโยชน์จากการเติบโตของการค้าที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ เบื้องต้นพบปัญหาที่จะต้องเร่งแก้ไข คือ 1. ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเข้าสู่โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG)

2. สถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการปรับตัว โดยเฉพาะกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก และเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น เช่น สหภาพยุโรป (EU) กับ 2 มาตรการ สำคัญ คือ มาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ซึ่งเป็นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าบางประเภทที่กระบวนการการผลิตมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง และกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-Free Products Regulation : EUDR)

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบการยังขาดระบบการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลต่างๆ เช่น ข้อกำหนดเฉพาะของกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Product Category Rules - PCRs) ซึ่งเป็นข้อมูลที่ต้องใช้ประกอบการยื่นขอฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ผลิตภัณฑ์ ในการขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพรินต,ผลิตภัณฑ์กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. (ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ที่จะติดบนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้นเป็นการแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่าตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่ ตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจชื้อของผู้บริโภค และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก)

รวมทั้งยังขาดเงินทุนในการลงทุนนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้ในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ขาดการสร้างเรื่องราวให้กับสินค้าว่าเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG ว่าจะช่วยสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่งผู้บริโภคในปัจจุบันมีทัศนคติที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และขาดการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ (Networking) และความร่วมมือระหว่างธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทำให้ความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานไม่ราบรื่น รวมทั้งขาดความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลชั้นนำ เพื่อร่วมมือและร่วมลงทุน เพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์


เปิดแผนช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย

นายภูสิตกล่าวว่า กรมได้ทำแผนสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยบ่มเพาะผู้ประกอบการทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ดำเนินธุรกิจตามแนวคิด BCG พัฒนาสินค้าเพิ่มมูลค่าด้วยแบรนด์ นวัตกรรม และการออกแบบ และเชื่อมโยงสู่ตลาดโลก โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติเมื่อปี 2564 และปัจจุบันกรมได้เดินหน้าดำเนินงานตามนโยบายในการสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality ผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ท่ามกลางบริบทการค้าโลกที่มีการนำมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการค้ามาใช้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น

ด้านการพัฒนาองค์ความรู้ผู้ประกอบการ กรมโดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ได้ปรับปรุงหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ ของ NEA ที่มีทั้งออฟไลน์และออนไลน์ (E-learning) กว่า 100 หลักสูตรในแต่ละปี โดยสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ กรมโดยสำนักส่งเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า (สสม.) ยังได้ริเริ่มโครงการสำคัญหลายโครงการ ได้แก่ 1. โครงการเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน (BCG to Carbon Neutrality) เพื่อเตรียมพร้อมผู้ประกอบการสำหรับการยื่นขอใบรับรอง Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งเป็นโครงการที่กรมร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มหัตถอุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือ ให้ได้รับองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด BCG และเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นขอฉลาก Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์จาก อบก. เพื่อเป็นตัวอย่างและต้นแบบให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ 2. โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก โดยบ่มเพาะและพัฒนาองค์ความรู้การเป็นนักออกแบบระดับสากล มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับกระบวนการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและความยั่งยืน (SDGs)

สำหรับการพัฒนาสินค้า กรมมีโครงการสำคัญ ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์เชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดสากล (DESIGN from Waste of Agriculture และ DESIGN from Waste of Industry หรือ DEWA & DEWI) ซึ่งได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 โดยโครงการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการในรูปแบบ Pitching Presentation จัด Workshop พัฒนาสินค้าที่มาจากผลผลิตเหลือใช้ทางการเกษตร และขยะจากอุตสาหกรรม เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าว ข้าวโพด เศษไม้ เศษพลาสติก เศษเหล็ก รวมถึงผลผลิต วัสดุเหลือใช้อื่นๆ มาแปรรูปเป็นวัสดุใหม่ เช่น ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์สร้างสรรค์ จัดกิจกรรมการนำเสนอสินค้าที่ได้รับการพัฒนา ต่อวิทยากรด้านการออกแบบ ด้านการตลาด และด้านนวัตกรรมวัสดุ เพื่อผู้ประกอบการรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ จัดกิจกรรมต่อยอดสู่ตลาดต่างประเทศ โดยนำผู้ประกอบการที่ผ่านการบ่มเพาะเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ

2. โครงการส่งเสริมและต่อยอดนวัตกรรมสู่การค้าระหว่างประเทศ (Smart Value Creation) โดยได้มีการจัดทำ “บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างการค้า การตลาด การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม” กับ 7 หน่วยงานวิจัย ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน ในการส่งเสริมให้งานวิจัยและนวัตกรรมของไทยมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก และต่อยอดผู้ประกอบนวัตกรรมสู่ตลาดต่างประเทศ โดยการจัดกิจกรรมให้คำปรึกษาในการพัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์ โดยเจรจาจับคู่ผู้ประกอบการกับนักวิจัย มุ่งเน้นผู้ประกอบการ SME ใน 6 กลุ่มสินค้า ได้แก่ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ กลุ่มการพิมพ์และสิ่งพิมพ์ กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม กลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน กลุ่มยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา และกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม

3. โครงการ IDEA Lab (Thai Brand Incubation Program) โดยได้ดำเนินการบ่มเพาะแบรนด์ไทยมาตั้งแต่ปี 2561 และจากปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกเกิดความตื่นตัวในกระแสของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเกิดเทรนด์ความต้องการสินค้ารักษ์โลก จึงได้มุ่งเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการที่กรมได้ให้การพัฒนาด้านการสร้างแบรนด์ ให้ปรับตัวในการดำเนินธุรกิจตามแนวคิด BCG และสามารถเปิดตัว BCG Heroes แบรนด์ไทย รุ่นที่ 1 จำนวน 50 รายไปเมื่อปลายปี 2564 ซึ่งเป็นกลุ่มนำร่องกลุ่มแรกที่กรมได้พาไปเจาะตลาดต่างประเทศ และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยการ และปัจจุบัน กรมอยู่ระหว่างบ่มเพาะ BCG Heroes รุ่นที่ 2 จำนวน 52 รายใน 6 กลุ่มสินค้า คือ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มของตกแต่งและของใช้ในบ้าน กลุ่มแฟชั่นและสิ่งทอ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าสำหรับเด็กและสัตว์เลี้ยง กลุ่มไลฟสไตล์และอื่นๆ

ขณะเดียวกัน ได้มีการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เช่น Milan Design Week ณ เมืองมิลาน อิตาลี สินค้ากลุ่มของใช้และตกแต่งบ้านที่มีแนวคิดในการออกแบบที่ยั่งยืน จากผู้ประกอบการที่ผ่านการบ่มเพาะ ภายใต้โครงการ DEWA-DEWI, งาน MQ Vienna Fashion Week ณ ออสเตรีย นำนักออกแบบสินค้าแฟชั่นแบบยั่งยืนเข้าร่วมงาน ภายใต้โครงการ Designers’ Room & Talent Thai, งาน The International Horticultural Expo ณ เนเธอร์แลนด์ สินค้าอาหารแห่งอนาคต, งาน Who’s Next ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส สินค้าแฟชั่น เครื่องนุ่งห่ม ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และงาน Seoul Living Design Fair ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ สินค้า BCG ในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าสุขภาพ สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น รวมถึงการจัดคูหาแสดงสินค้า BCG ในงานแสดงสินค้านานาชาติที่กรมจัดในประเทศไทย อาทิ สินค้าอาหารแห่งอนาคต ในงาน THAIFEX-Anuga Asia สินค้าดีไซน์ สไตล์ยั่งยืน ในงาน STYLE Bangkok

นอกจากนี้ ได้ดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ ถึงศักยภาพของไทยในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆ โดยการผลิตเนื้อหา (content) ที่ดึงเอาจุดเด่นของผู้ประกอบการ BCG ที่ได้รับการพัฒนาโดยกรมมาประชาสัมพันธ์เผยแพร่ ผ่าน e-Catalogue และการมอบตราสัญลักษณ์ เช่น Thailand Trust Mark (T Mark) ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพสินค้าและบริการชั้นนำของประเทศไทย (Trusted Quality) ที่ครอบคลุม 4 มิติ คือ การผลิตที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว แรงงานที่เป็นธรรม (Fair Labour) การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental Concern) และมีความรับผิดชอบต่อสังคม (social responsibility) และมอบรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดีเด่น (Design Excellence Award - DEmark) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมด้านการออกแบบบที่มีประโยชน์ใช้สอยที่ดี มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“จากการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับฐานราก การช่วยพัฒนาสินค้า การสร้างมาตรฐานให้กับสินค้า การช่วยหาช่องทางการตลาด ไม่เพียงช่วยผู้ประกอบการไทยให้ผลิตสินค้าตรงตามที่ตลาดต้องการ แต่จะช่วยผลักดันให้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทยออกไปเติบโตในตลาดต่างประเทศ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม และยังจะช่วยเพิ่มรายได้เข้าประเทศ ทำให้การส่งออกของประเทศเติบโตเพิ่มขึ้น” นายภูสิตกล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น