xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทย เผยไตรมาส 1/67 รายได้รวม 4.5 หมื่นล้านบาท ด้อยค่าขายเครื่องบินเก่า 18 ลำ ฉุด กำไรลดเหลือ 2.4 พันล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การบินไทย เผยไตรมาส 1/67 มีรายได้รวม 45,955 ล้านบาท กำไรสุทธิ2,423 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 80% แม้ขนส่งผู้โดยสารรวม 3.88
ล้านคนเพิ่มขึ้น 10.2% จากการเปิดเส้นทางบินและเพิ่มความถี่ เหตุด้อยค่าขายเครื่องบิน18 ลำ “A380 และโบอิ้ง777”

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2567 โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 45,955 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีรายได้รวม 41,507 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญจากการเติบโตของรายได้การขนส่งผู้โดยสารด้วยบริการเที่ยวบินขนส่งที่เพิ่มขึ้น และความต้องการเดินทางที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางทวีปยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม 34,880 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,407 ล้านบาท (22.5%) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 28,473 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่ง จำนวนเที่ยวบิน จุดบิน และผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น การอ่อนค่าของเงินบาท รวมทั้งอัตราค่าบริการภาคพื้นและราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายปรับตัวสูงขึ้นในภาพรวม โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าว ได้แก่ ค่าใช้จ่ายการบริการผู้โดยสาร ค่าบริการการบินในต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องบินและอุปกรณ์ ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 11,075 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1,959 ล้านบาท (15.0%)


นายชายกล่าวว่า บริษัทฯและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่9 (TFRS 9) จำนวน 4,608 ล้านบาทมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่าย 4,036 ล้านบาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 5,372 ล้านบาทการด้อยค่าของเครื่องบิน และสินทรัพย์สิทธิการใช้ และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน 3,338 ล้านบาท เนื่องจากมีการเจรจาตกลงซื้อขายเครื่องบินปลดระวงาง จำนวน 18 ลำ โดยได้ลงนามสัญญากับผู้ซื้อแล้วคือ เครื่องบิน โบอิ้ง 777-200 จำนวน 6 ลำ และอยู่ระหว่างรอทำสัญญากับผู้ซื้อ คือ โบอิ้ง
777-300 จำนวน 6 ลำ และอยู่ระหว่างเจรจากับผู้สนใจซื้อ แอร์บัสA380 จำนวน 6 ลำ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นเร็วๆนี้ ทำให้การบันทุกรายการด้อยค่าในไตรมาส 1 นี้ มีมูลค่าสูงที่สุด ส่วนในไตรมาสต่อไป จะเหลือการด้อยค่าในส่วนของของเครื่องยนต์และอะไหล่อุปกรณ์การบิน และทรัพย์สินอื่นๆ เท่านั้น

ขณะที่มีรายการปรับปรุงรายได้บัตรโดยสารที่หมดอายุ
4,136 ล้านบาท กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 493 ล้านบาท
และส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม 36 ล้านบาท ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี
2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 2,423 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ
12,523 ล้านบาท หรือลดลง 80.7% 

และมีEBITDA หลักหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง(Power by the Hours) 14,000 ล้านบาทใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เป็นเงินจำนวน 14,054 ล้านบาท ซึ่งคาดว่า รวม 2 ไตรมาส บริษัทฯ มี EBITDAสะสมอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการที่ระบุว่าEBITDAย้อนหลัง 12 เดือน ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท


ทั้งนี้ บริษัทฯ
มีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ทำการบินในไตรมาสที่ 1 รวมทั้งสิ้น 73 ลำ
เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวน 8 ลำ
โดยเป็นการทยอยรับมอบเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900 ที่ ที่จัดหาและนำมาปฏิบัติการบินระหว่างปี
ทำให้สิ้นปี 2567 จะมีฝูงบินที่ 79 ลำ ซึ่งไตรมาส 1 มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.8 ชั่วโมงต่อวัน
มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.1% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 10.1% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 83.5% ใกล้เคียงกับปีก่อน
โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งเฉลี่ยที่ 80.8%
และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 3.88 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน
10.2%

ในไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีรายได้บัตรโดยสารรวม 38,517 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากผู้โดยสารทั่วไป 38,387 ล้านบาท และจากส่วนราชการภายในประเทศ 130 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.3% ของรายได้บัตรโดยสารรวม โดยเป็นรายได้จากเส้นทางยุโรป 34.5% เอเชียเหนือ 32.8% เอเชียตะวันตกและตะวันออกกลาง 11.9% ออสเตรเลีย 7.2% อาเซียน 7.7% และเส้นทางภายในประเทศ 5.9%

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 257,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 18,119 ล้านบาท (7.6%) หนี้สินรวมจำนวน 297,829 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 15,696 ล้านบาท (5.6%) ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบ 40,719 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 2,423 ล้านบาท มีเงินสดรวมตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำ และหุ้นกู้ ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 72,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 5,595 ล้านบาท


จากปริมาณความต้องการเดินทางที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ ได้ดำเนินการบริหารจัดการตารางเวลาขึ้น-ลงของเที่ยวบิน (Slot Time) ที่ได้รับการจัดสรรตามมาตรฐานกระบวนการในระดับสากล ทั้งในส่วนการใช้ตารางเวลาที่ได้รับจัดสรรเพื่อรองรับความต้องการการเดินทางและเชื่อมต่อเครือข่ายเที่ยวบินของผู้โดยสาร และการคืนตารางเวลาในเส้นทางและเที่ยวบินที่ไม่ได้อยู่ในแผนการบินของบริษัทฯ

นายชายกล่าวว่า คาดการณ์รายได้รวมในปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 1.8
แสนล้านบาท โดยเป็นรายได้ด้านการขนส่งที่ 1.6 แสนล้านบาท และมีเป้าหมายอัตราบรรทุกผู้โดยสาร
(Cabin Factor ) คาดอยู่ในระดับ 78% ขณะที่การปลดระวางเครื่องบินและทำสัญญาซื้อขายเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งขณะนี้ยังเหลือทรัพย์สินสำนักงานขาย
ที่ฮ่องกง 2 แห่ง เชียงใหม่ 1 แห่งและพิษณุโลก 1 แห่ง โดยบริษัทฯ คาดหมายว่า จะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ตามเป้าหมายในปี
2568 โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน


กำลังโหลดความคิดเห็น