xs
xsm
sm
md
lg

“มนพร” เช็กแผนพัฒนาท่าเรือภูเก็ตรับเรือสำราญ ศึกษาเสร็จปลายปี 67 ลุยขยายร่องน้ำ ผุดอาคารผู้โดยสาร เพิ่มรายได้ท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“มนพร” ลุยพัฒนาท่าเรือภูเก็ตรับเรือสำราญขนาดใหญ่ เจ้าท่าฯ สรุปผลศึกษาปลายปี 67 จ่อเพิ่มความยาวหน้าท่า ขุดลอกความลึกร่องน้ำ ขยายแอ่งกลับลำเรือ สร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร บริการ Hybrid เป็นทั้ง Home Port และแวะพัก หวังดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักใช้จ่าย 5,000 บาท/คน/วัน

วันที่ 8 พ.ค. 2567 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตเพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) พร้อมรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน ณ อาคารท่าเรือน้ำลึก ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการเดินเรือสำราญขนาดใหญ่ของฝั่งทะเลอันดามัน

นางมนพรกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตให้เป็นท่าเทียบเรือ Cruise เนื่องจากเดิมท่าเรือแห่งนี้ได้ถูกออกแบบให้เป็นท่าเรือสำหรับขนส่งสินค้า เมื่อปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือลดลง ในขณะที่การท่องเที่ยวทางเรือเติบโตเพิ่มขึ้นจึงมีเรือ Cruise เข้ามาจอดเทียบท่าเพิ่มขึ้น ทำให้หน้าท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันมีศักยภาพไม่เพียงพอต่อการรองรับ ประกอบกับมีข้อจำกัดเรื่องคลื่นลมแรงในช่วงฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ทำให้เรือไม่สามารถเข้าเทียบท่าได้ จึงต้องไปทอดสมอที่อ่าวป่าตองแทน


นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดทางกายภาพของร่องน้ำทางเรือเดินที่มีความลึกเพียง 9 เมตรจากระดับน้ำลงต่ำสุด และแอ่งกลับลำเรือมีรัศมีเพียง 360 เมตร ทำให้เรือ Cruise ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารประมาณ 2,500-5,000 คนต่อลำ ไม่สามารถเข้าจอดเทียบท่าได้โดยตรง ต้องขนถ่ายผู้โดยสารลงเรือเล็กเพื่อมาขึ้นที่ท่าแทน

ปัจจุบันกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษาวางแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณชายฝั่งอันดามัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2567 ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาได้เสนอแนวคิดในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตด้วยการขยายความยาวหน้าท่าเทียบเรือ ขุดลอกความลึกของร่องน้ำเท่ากับ -10.5 เมตร จากระดับน้ำลงต่ำสุด หรือ -12.8 เมตร เทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง ขุดลอกเพื่อขยายแอ่งกลับลำเรือให้มีความเหมาะสม ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและติดตั้งไฟหัวเขื่อน และก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและเครื่องมืออุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานของท่าเทียบเรือสำราญที่เป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port)


เมื่อท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตได้รับการปรับปรุงตามแนวทางการพัฒนาดังกล่าวแล้วจะทำให้เป็นท่าเรือแบบ Hybrid ที่เป็นทั้ง Home Port รองรับเรือ Cruise ขนาดกลางถึงเล็ก และเป็นท่าเรือแวะพัก (Port of call) สำหรับรองรับเรือ Spectrum of the Seas เรือ Cruise ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียที่บรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 4,200-4,900 คน ซึ่งปัจจุบันได้แวะเข้ามาจอดทอดสมอเพื่อท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเป็นประจำ โดยนักท่องเที่ยวเหล่านี้จะใช้จ่ายเงินประมาณ 5,000 บาท/คน/วัน

หากเรือ Cruise แวะเข้าเทียบท่าจำนวนมากขึ้นและจอดท่องเที่ยวในประเทศไทยนานขึ้น จะสามารถสร้างเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวให้มากขึ้นไปด้วย ทั้งนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารสภาพอากาศในช่วงฤดูมรสุมให้นักท่องเที่ยวและคนเดินเรือทราบด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น