แหลมฉบังบูมเรือท่องเที่ยวต่อคิวเทียบท่า ล่าสุดขนผู้โดยสารพร้อมลูกเรือกว่า 6,000 คนแวะเที่ยวไทย กทท.เผยปี 66 มี 60 ลำ ส่วน 11 ก.พ.จ่อขอแวะ 6 ลำ เร่งจัดสรรท่าเรือรองรับ ส่วนขนส่งรถยนต์พุ่งสถิติกว่า 1.51 ล้านคันรับกระแสรถยนต์ EV ชูไทยจุดถ่ายลำ "ยุโรป-ออสเตรเลีย"
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ในปี 2566 (1 ต.ค. 2565-30 ก.ย. 2566) ปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) มีจำนวน 8.67 ล้านทีอียู ลดลงจากปี 2565 ประมาณ 0.62% ถือว่าปริมาณสินค้าใกล้เคียงกัน (ปี 2565 มีปริมาณตู้สินค้า 8.72 ล้านทีอียู) ซึ่งในปี 2565 ปริมาณตู้สินค้ามีสถิติสูงสุดนับจากก่อตั้งการท่าเรือฯ
ส่วนปี 2566 แม้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมทำให้ปริมาณค่าระวางลดลง และมีปัญหาสภาวะสงคราม ทำให้ในช่วงแรกของปี 2566 ปริมาณตู้สินค้าน้อยลงไปมาก ซึ่งกทท.ได้ทำการตลาดกระตุ้นการขนส่งในช่วงครึ่งปีหลังเพื่อรักษาปริมาณตู้สินค้าให้เทียบกับปี 2565 ทำให้สรุปทั้งปีปริมาณตู้ปรับขึ้นมาใกล้เคียงกับปี 2565 ขณะที่จุดสำคัญของประเทศไทย คือมีปริมาณสินค้า นำเข้าและส่งออกในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยปี 2566 ปริมาณสินค้านำเข้าที่ 4.35 ล้านทีอียู (50.2%) ปริมาณสินค้าส่งออกที่ 4.31 ล้านทีอียู (49.8%)
โดยปี 2566 มีปริมาณขนส่งสินค้าทางรถไฟ 480,118 ทีอียู เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มี 382,802 ทีอียู โดย กทท.ให้ความสำคัญต่อการขนส่งทางรางเพราะมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่ำ และลดปัญหาการจราจรบนถนน โดยทำงานร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ไอซีดี ลาดกระบัง
นายเกรียงไกรกล่าวว่า สินค้าที่มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ คือการขนส่งสินค้าประเภทรถยนต์ ล่าสุดมีปริมาณสัดส่วน 5.7% แม้ยังไม่มากแต่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยปี 2566 มีปริมาณขนส่งที่ 1,514,406 คัน นับเป็นสถิติใหม่ของการขนส่งรถยนต์ที่แหลมฉบัง โดยเพิ่มจากปี 2565 ที่มี 1,247,058 คัน และคาดการณ์ว่าหลังจากนี้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 25% เนื่องจากประเทศไทยเป็นซัปพลายเชนของธุรกิจรถยนต์ และผู้ผลิตจากต่างประเทศใช้ไทยเป็นจุดถ่ายลำจากยุโรปไปออสเตรเลีย ประกอบกับแนวโน้มการลงทุนรถยนต์ EV เพิ่มขึ้นที่ประเทศไทย ขณะที่ศักยภาพปัจจุบันท่าเทียบเรือประเภทรถยนต์ Ro-Ro ที่ท่าเทียบเรือ A1 (NYK Auto Logistics หรือ NYK Line เป็นผู้บริหาร) และท่าเทียบเรือ A5 (Namyong Terminal หรือ NYK Line เป็นผู้บริหาร) รองรับรวมประมาณ 1.2 ล้านคัน
@สุดบูม! เรือสำราญขนาดใหญ่ 6 ลำจองคิวเทียบท่าเดือน ก.พ.
นอกจากนี้ การขนส่งผู้โดยสารมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน โดยปี 2566 มีสัดส่วนการขนส่งผู้โดยสารประมาณ 0.3% ซึ่งแหลมฉบังมีท่าเรือโดยสาร คือ ท่าเทียบเรือ A1 ( NYK Auto Logistics หรือ NYK Line เป็นผู้บริหาร) ซึ่งสามารถรองรับเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (เรือครูซ) ขนาดเรือ มีผู้โดยสาร 500-3,000 คน ซึ่งมากกว่าท่าเรือกรุงเทพ ที่รองรับเรือขนาดไม่เกิน 1,000 คน
อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดโควิด-19 เรือท่องเที่ยวมีการเติบโตสูงมาก และมีเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ต้องการเทียบท่าเรือแหลมฉบัง เพิ่มขึ้น ปี 2566 มีถึง 60 ลำ หรือเฉลี่ยเดือนละ 15 ลำ ซึ่งการท่าเรือฯต้องจัดท่าเทียบเรือรองรับ โดยล่าสุด วันที่ 7 ม.ค. 2567 มีเรือสำราญ M.V AIDA BELLA พร้อมผู้โดยสาร 2,000 คน เข้าเทียบท่าเรือ A1 กำหนดออกจาท่า วันที่ 9 ม.ค. 2567 เวลา 19.00 น. และในวันที่ 7 ม.ค. 2567 เรือสำราญ M.V.SPECTRUM OF THE SEA ผู้โดยสาร 4,500 คน ลูกเรือ 1,500 คน รวม 6,000 คน ขอเทียบท่า ซึ่งทำให้ต้องจัดท่าเทียบเรือ A2 รองรับ กำหนดออกจากท่า เวลา 19.00 น. วันที่ 8 ม.ค. 2567
ขณะที่ในช่วงวันที่ 11 ก.พ. 2567 นี้มีเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่แจ้งขอเข้าเทียบท่า ถึง 6 ลำ ซึ่ง กทท.อยู่ระหว่างจัดหาท่าเรือรองรับ ซึ่งทำให้เห็นว่าแนวโน้มเรือท่องเที่ยวที่เป็นเรือสำราญขนาดใหญ่ผู้โดยสารจำนวนมากต้องการเข้าเทียบท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มมากขึ้น และผู้โดยสารที่มากับเรือจะขึ้นท่าเพื่อท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมาก
ปัจจุบันศักยภาพท่าเรือแหลมฉบังอยู่ที่ 11.1 ล้านทีอียู พื้นที่รวม 8,752 ไร่ แบ่งเป็น แหลมฉบัง ระยะที่ 1 ขีดความสามารถจำนวน 4.3 ล้านทีอียู มีร่องน้ำลึก 14 เมตร ความยาวหน้าท่า 300-400 เมตร โดยมีท่าเทียบเรือกลุ่ม A และ B จำนวน 12 ท่า และแหลมฉบัง ระยะที่ 2 ขีดความสามารถ 6.8 ล้านทีอียู ร่องน้ำลึก 16 เมตร ความยาวหน้าท่า 500 เมตร โดยมีท่าเทียบเรือกลุ่ม C และ D จำนวน 7 ท่า ซึ่งสามารถรองรับเรือที่มีขนาดใหญ่ขึ้น