xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.จับมือ จุฬาฯ ผุดโครงการตรวจสุขภาพฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กนอ.ร่วมคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการตรวจสุขภาพ เพื่อส่งเสริมด้านสุขภาพให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บุคลากร กนอ. ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการในนิคมฯ รวมถึงชุมชนโดยรอบนิคมฯ ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

รองศาสตราจารย์ วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.
) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นางนลินี กาญจนามัย รองผู้ว่าการ (บริหาร) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจโครงการตรวจสุขภาพ ร่วมกับคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่ง กนอ.ให้ความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรค ของบุคลากรของ กนอ. ผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม และชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด

“บันทึกข้อตกลงนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นของ กนอ.ที่จะใช้ความเชี่ยวชาญ ทรัพยากร และเครือข่ายที่ กนอ.มีในการดูแลสุขภาพของแรงงาน ผู้ประกอบการ ตลอดจนชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม และยิ่งเราได้รับความร่วมมือจากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยิ่งตอบสนองต่อความต้องการด้านการบริการทางการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านสุขภาพที่ยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรม” รองศาสตราจารย์ วีริศ กล่าว

รองศาสตราจารย์ ปาลนี อัมรานนท์ คณบดี คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะให้ความร่วมมือดังนี้ 1. ให้บริการตรวจสุขภาพตามสิทธิที่ได้รับจากระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสิทธิตรวจสุขภาพอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิประกันสังคม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 2. เปิดจุดตรวจเชิงรุก จัดเตรียมอุปกรณ์และสถานที่สำหรับให้บริการตรวจสุขภาพ รวมถึงการออกใบรับรองผลการตรวจให้แก่ผู้เข้ารับบริการ 3. ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเบื้องต้น และการป้องกันตนเองเกี่ยวกับโรคจากการประกอบอาชีพ 4. จัดหาบุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ 5. ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอความช่วยเหลือตามวัตถุประสงค์ของโครงการ 6. จัดหาเจ้าหน้าที่จัดเก็บข้อมูลเป็นสถิติ และส่งต่อข้อมูลทางสถิติให้แก่ผู้ประกอบกิจการเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจการตรวจทั้งหมด และ 7. ให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงที่พบเจอจากการตรวจคัดกรอง โดยให้ปฏิบัติตามเกณฑ์การส่งต่อของระบบการบริการสาธารณสุขต่อไป

สำหรับบันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกัน และเมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว หากทั้งสองฝ่ายประสงค์จะขยายระยะเวลาความร่วมมือออกไปอีก ทั้งสองฝ่ายจะตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรเช่นเดียวกับการทำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น