ปลัด ก.อุตฯ สั่งหยุดการทดสอบการนำกากตะกอนแร่แคดเมียมทั้งหมด เนื่องจากเกิดเหตุจากกระบวนการขนลำเลียงยกถุงที่ไม่สมดุลทำให้โซ่ขาด เรียกประชุมด่วน ปรับกระบวนการดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อให้การทดสอบมีความเสถียร ก่อนขนลำเลียงต่อไป
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหา และขนย้ายกากตะกอนแคดเมียม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ลงพื้นที่บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดตาก เพื่อตรวจติดตามการขนย้ายกากตะกอนแร่แคดเมียม โดยวันนี้ (30 เมษายน 2567) เวลา 08.30 น. ขบวนรถบรรทุกจำนวน 10 คัน ขนย้ายกากตะกอนแร่แคดเมียมจากกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 254 ตัน ได้มาถึงบริเวณโกดังพักคอยในบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ โดยได้มีขั้นตอนการสำรวจความพร้อมพื้นที่โกดังเก็บกากตะกอน และได้เริ่มการทดสอบขั้นตอนการขนย้ายถุงกากตะกอนแร่แคดเมียมจากรถบรรทุก เปลี่ยนถ่ายไปยังรถบรรทุกขนส่งภายในบริษัทฯ เพื่อลำเลียงไปยังพื้นที่โกดังเก็บต่อไป
ปลัดฯ อุตสาหกรรมกล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมสู่จังหวัดตาก ขณะนี้ได้สั่งการให้หยุดกระบวนการทดสอบนำกากตะกอนแคดเมียมกลับยังพื้นที่จังหวัดตากเอาไว้ก่อน เนื่องจากพบว่าขั้นตอนการขนย้ายถุงกากตะกอนแคดเมียมจากรถบรรทุกไปยังรถขนส่งภายในเพื่อไปเก็บไว้ที่โกดังพักคอย ไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ โดยจากการทดลองยกถุงกากตะกอนแรก เกิดปัญหาคือโซ่ที่ใช้เกี่ยวไว้กับรถแบ็กโฮสำหรับยกถุงกากตะกอน เกิดความไม่สมดุลระหว่างการยกทำให้โซ่ขาด จึงได้สั่งการให้หยุดกระบวนการทดสอบทั้งหมดทันที
ตั้งแต่พื้นที่ต้นทางจากจังหวัดสมุทรสาคร จนถึงจังหวัดตาก พร้อมประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้อง และบริษัทฯ เพื่อปรับแผนแนวทางการดำเนินงานใหม่ เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดโดยเร็ว พร้อมทั้งชี้แจงชาวบ้านในพื้นที่ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ ให้มีความสบายใจว่าการดำเนินการครั้งนี้เป็นการทดสอบ เมื่อพบปัญหาจึงต้องทำการปรับปรุงจนกว่าจะมั่นใจว่ากระบวนการขนย้ายมีความปลอดภัย จึงจะให้เริ่มดำเนินการอีกครั้ง
ทั้งนี้ ได้หารือกับบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหาร เพื่อวางแผนการดำเนินการ และปรับปรุงแก้ไขปัญหาช่วงการยกถุงขนย้าย โดยให้หาวิธีที่มีความปลอดภัย และให้หาอุปกรณ์สำหรับใช้ยกใหม่ และซ้อมการปฏิบัติงานในทุกขั้นตอนการขนย้าย โดยให้มีการใช้น้ำหนักถ่วงขนาดเท่ากับถุงกากตะกอนในการทดสอบหาวิธีดำเนินการต่อไป