ตาก - ปลัดกระทรวงอุตฯ นำเจ้าหน้าที่ส่องบ่อกักเก็บสารแคดเมียม จี้ซ่อมรอยรั่ว-รอยร้าว พร้อมยืนยันเดินหน้าขนสารอันตรายกลับหลุมคืนถิ่นกำเนิดตามกำหนด 7 พฤษภาฯ นี้ ส่งเข้าโรงเก็บก่อนรอซ่อมบ่อเสร็จ
วันนี้ (18 เม.ย.) นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนางสาวณัฏฐิญา เนตรสุภา รองฯ, นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานฯ นายอานันท์ ฟักสังข์ ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมบริการ รักษาราชการแทนรองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และ นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้เดินทางไปยังบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอน จำกัด (มหาชน) เลขที่ 94 หมู่ที่ 1 ถนนพหลโยธิน ต.หนองบัวใต้ อ.เมือง จ.ตาก ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บกากอุตสาหกรรมแคดเมียม
เพื่อร่วมตรวจสอบและแก้ไขปัญหาสถานที่จัดเก็บสารแคดเมียม หลังชาวบ้านตำบลหนองบัวใต้ อ.เมือง จ.ตาก ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการนำสารแคดเมียมกลับมายังถิ่นกำเนิด และจะเฝ้าระวังการนำสารแคดเมียมกลับมาที่จังหวัดตาก
พร้อมเป็นประธานในการประชุม 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้แก้ไขปัญหาผลกระทบจากสารแคดเมียม ณ ห้องประชุมตากสินมหาราช ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดตาก
นายณัฐพลเปิดเผยว่า วันนี้มาดูความพร้อมที่จะนำกากแคดเมียมกลับมาเก็บไว้ที่สถานประกอบการเดิมในจังหวัดตาก ขณะที่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงกับบ่อกักเก็บกลางวิตกกังวลกลัวมลภาวะเป็นพิษไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ ทางอากาศ และสิ่งแวดล้อม ในเรื่องของบ่อที่กักเก็บมีการรั่วซึม และสถานที่พักแร่ อาคารหลังคามีรอยรั่วหลายแห่ง อาจจะทำให้น้ำฝนปนเปื้อนและไหลลงสู่แหล่งน้ำ ไม่มั่นใจในสถานที่กักเก็บ จึงได้คัดค้านที่จะนำสารแคดเมียมกลับมาเก็บไว้สถานที่เดิม
อย่างไรก็ตาม ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสารแคดเมี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางบก และสถานที่จัดเก็บ เพื่อให้เกิดความสบายใจของประชาชนในพื้นที่ใกล้กับบ่อกักเก็บกากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบ่อที่ 5 ซึ่งได้มีการขนย้ายกากอุตสาหกรรมแคดเมียมออกไปหมดแล้ว เป็นบ่อเปล่า จากการตรวจสอบพบว่ามีรอยร้าวชำรุดเกิดขึ้นหลายแห่ง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการซ่อมแซม ไม่ให้น้ำปนเปื้อนไหลลงสู่ใต้พื้นดิน มี 2 แนวทาง
คือ 1. ใช้ปูนนอนชริงก์เกราต์ในการซ่อมแซมและเทเพื่อเติมเต็มช่องว่างคอนกรีต การเทเพื่อเติมเต็มในจุดที่เกิดรูหรือโพรง เนื่องจากการไหลตัวที่ดีทำให้สามารถเข้าไปเติมเต็มจุดเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. แนวทางเทปูนซีเมนต์ใหม่ทับของเดิม หรืออาจจะรื้อทำใหม่ แนวทางนี้จะต้องใช้เวลามาก
ซึ่งทั้ง 2 แนวทางชาวบ้านในพื้นที่ต้องการให้มีหน่วยงานกลาง อาจเป็นสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับทางวิศวกรรมการก่อสร้าง ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง
แต่ในระหว่างรอการซ่อมแซมบ่อกักเก็บ จะนำกากอุตสาหกรรมแคดเมียมทั้งหมดที่ขนย้ายตามกำหนดการในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 เข้าเก็บพักรอไว้ที่อาคารพักคอย ซึ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ มีหลังคามิดชิด พื้นที่กว้างประมาณ 2,000 ตารางเมตร ซึ่งเพียงพอต่อการกักเก็บสารทั้งหมดที่บรรจุมาในถุงบิ๊กแบ็ก ส่วนข้อกังวลเรื่องรอยรั่วของหลังคา ทางเจ้าหน้าที่ก็จะทำการซ่อมเปลี่ยนหลังคาให้สมบูรณ์ จะไม่มีปัญหาการรั่วไหลของน้ำฝนอย่างแน่นอน เมื่อซ่อมแซมบ่อกักเก็บแล้วเสร็จก็จะดำเนินการฝังกลบตามมาตรฐานต่อไป